แบน “หัวเว่ย” ไม่ง่าย ยุโรป “เสียงแตก” เมินคำขอมะกัน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังจากประสานแคนาดาให้จับกุม เมิ่ง หว่านโจว ซีอีโอหญิงของบริษัท “หัวเว่ย” ยักษ์โทรคมนาคมจากจีน สหรัฐยังคงเดินหน้ากดดันให้ชาติอื่น ๆ ร่วมแบน “หัวเว่ย” โดยกล่าวหาว่าทำตัวเป็นสปายหรือจารกรรมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

ล่าสุดนี้รัฐบาลสหรัฐถึงกับส่งตัวแทนไปร่วมงาน โมบายล์ เวิลด์ คองเกรส อันเป็นงานประชุมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลก ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพื่อชี้แจงและโน้มน้าวให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะยุโรปร่วมมือไม่ใช้อุปกรณ์และโครงข่ายของหัวเว่ย ในครั้งนี้ตัวแทนจากสหรัฐอ้างหลักฐานจากกฎหมายด้านงานข่าวกรองของจีนปี 2017 ที่ระบุว่า “บรรดาองค์กรต่าง ๆ และพลเมืองจีนควรทำตามกฎหมาย ดังกล่าว ตลอดจนสนับสนุนและให้ความร่วมมืองานข่าวกรองของชาติ”

ขณะที่หัวเว่ยก็ขนผู้บริหารชุดใหญ่ไปพบปะกับผู้แทนรัฐบาลตลอดจนพันธมิตรทางการค้าในงานนี้ด้วย พร้อมกับให้ความมั่นใจว่าหัวเว่ยไม่มีพฤติกรรม ดังกล่าว ข้อกล่าวหาของสหรัฐไร้หลักฐาน ควรปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดสินใจว่าโครงข่าย 5G ของหัวเว่ยปลอดภัยหรือไม่

บรรดาผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ได้ออกมาเตือนว่าการแบนหัวเว่ยแบบเหมารวมอาจทำให้การเชื่อมต่อด้วยระบบ 5G ล่าช้าไปหลายปี พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐแสดงหลักฐานชัดเจนกว่านี้ เช่นเดียวกับกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่เตือนว่าไม่ควรด่วนตัดสินใจโดยใช้เพียงแค่ข้อมูลและการวิเคราะห์บางส่วน

ยุโรปกลายเป็นสนามรบของสหรัฐในการรณรงค์ให้ชาติตะวันตกแบนหัวเว่ย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้สหรัฐอ้างว่ามีความคืบหน้าหลังจากได้หารือตัวต่อตัวกับพันธมิตรในยุโรปเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของหัวเว่ย

ถึงแม้สหรัฐจะอ้างว่าได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศในยุโรป แต่ในความเป็นจริงส่อเค้าว่าสหรัฐจะต้องเจองานยาก เพราะชาติยุโรปไม่ได้มีเสียงเอกฉันท์ที่จะคล้อยตามสหรัฐ โดยเฉพาะอังกฤษกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ชาติตะวันตกแตกแถว

หลังจากอังกฤษออกมาระบุว่า อังกฤษสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของอุปกรณ์หัวเว่ยได้ และไม่เห็นด้วยที่จะห้ามหัวเว่ยเข้าร่วม 5G

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและคนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหลายราย ชี้ว่า บทสรุปจากอังกฤษเกี่ยวกับหัวเว่ย ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับหลายชาติในยุโรป เพราะอังกฤษนั้นมีความเชี่ยวชาญข่าวกรองและที่สำคัญเป็นสมาชิกกลุ่ม Five Eyes ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่แบ่งปันข้อมูลข่าวกรองทางสัญญาณ (signals intelligence) ระหว่างกัน มีสมาชิก 5 ชาติ คือ แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นั้นร่วมมือกับสหรัฐไปแล้วด้วยการประกาศห้ามหัวเว่ยเข้าร่วมลงทุนวางโครงข่าย 5G ส่วนแคนาดานั้นแม้จะยังไม่เลิกใช้อุปกรณ์หัวเว่ยแต่ก็ร่วมมือด้วยการจับกุมซีอีโอหญิงของหัวเว่ยและเตรียมส่งตัวให้สหรัฐทางด้านเยอรมนี ก็นับเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่และทำให้สหรัฐเสียหน้าค่อนข้างมาก เพราะโฆษกกระทรวงมหาดไทยเยอรมนีพูดชัดว่าไม่มีแผนจะห้ามบริษัทไหนทั้งนั้นในการเข้าร่วมวางโครงข่าย 5G เพราะการจะห้ามบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยตรงอาจผิดกฎหมาย

ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่เรามุ่งเน้นก็คือปรับเปลี่ยนข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่จำเป็นเพื่อการันตีว่าโครงข่ายเหล่านั้นปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะมีผู้ผลิตบางรายที่ไม่น่าไว้วางใจนักอยู่ในตลาด ซึ่งท่าทีดังกล่าวของเยอรมนีก็เท่ากับว่าไม่ปิดกั้นหัวเว่ย แม้ว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยจะมีความไม่น่าไว้วางใจก็ตาม

การที่ชาติยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีแสดงท่าทีไม่ร่วมมือกับสหรัฐในประเด็นนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลสหรัฐยุคปัจจุบันได้สร้างรอยร้าวอย่างรุนแรงไว้กับยุโรป กรณีเยอรมนีนั้นถูกโดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีอย่างหนักเนื่องจากเกินดุลการค้ากับสหรัฐมาก

พอล ทริโอโล หัวหน้าฝ่ายวิจัยของยูเรเซีย กรุ๊ป ชี้ว่า สหรัฐเผชิญกับงานเข็นครกขึ้นเขา ในการโน้มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้โยนทิ้งหัวเว่ย