“สหรัฐ” เผยเล็งถอนสิทธิ “จีเอสพี” อินเดีย-ตุรกี ชี้ไม่เข้าเงื่อนไขแล้ว

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาระบุว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเตรียมเพิกถอนสิทธิทางการค้า “จีเอสพี” หรือสิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วมอบให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการส่งสินค้าบางรายการไปขายแบบปลอดภาษี

โดยแถลงการณ์ของยูเอสทีอาร์ ระบุว่า สหรัฐมีแผนที่จะถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาของอินเดีย และตุรกี ภายใต้โครงการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เนื่องจากสองประเทศนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการได้รับสิทธิจีเอสพี

แถลงการณ์ระบุด้วยว่าอินเดียล้มเหลวในการรับประกันให้เห็นได้ว่าจะมีการเปิดเข้าเข้าถึงตลาด และมีการตั้งกำแพงทางการค้าอย่างกว้างขวางที่ส่งผลกระทบในแง่ลบกับการค้าของสหรัฐ ขณะที่ตุรกีที่รับสิทธิจีเอสพีของสหรัฐตั้งแต่ปี 1975 ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างเพียงพอแล้ว จึงไม่เข้าเงื่อนไขในการรับจีเอสพี

รายงานระบุว่ากระบวนการถอนสิทธิจีเอสพีนั้นใช้เวลาอย่างน้อย 60 วัน หลังจากการรับรองจากสภาคองเกรสรวมไปถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยกระบวนการนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้วโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ส่งหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนฯ และประธานวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้การประกาศเพิกถอนสิทธิจีเอสพีดังกล่าวมีขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐ และจีน กำลังพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกจากปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบกับการค้าของสองประเทศ ส่วนหนึ่งของนโยบายของทรัมป์ในการพยายามแก้ปัญหาความสัมพันธ์ทางการค้าที่ไม่เท่าเทียมตามมุมมองของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของทรัมป์

 


ที่มา : มติชนออนไลน์