“จีน-สหรัฐ” ไม่จบ! แลกหมัดกันคนละยก “Tech War” ยืดเยื้ออีกนาน

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่นับวันยิ่งลุกลามกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากที่เป็นเพียงสงครามการค้า ตอบโต้กันในเรื่อง “ภาษีศุลากากร” ระหว่าง 2 ประเทศ ปัจจุบันความปั่นป่วนได้กระจายลามไปยังอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระหว่างกันแล้ว

โดยชนวนแผลใหญ่นี้มาจากภายหลังที่รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นบัญชีดำ หัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยห้ามไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีอีก 68 บริษัทจาก 20 ประเทศทั่วโลก ที่ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน คือ ห้ามบริษัทอเมริกันทำการค้าขายด้วย โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลวอชิงตัน

ขณะที่ในวันเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ของ “หัวเว่ย” ได้ออกมาตอบโต้สหรัฐ โดย “เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์” ระบุคำกล่าวดังนี้ “หัวเว่ยมีพันธมิตรอื่นๆ อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศที่ให้การสนับสนุนระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “5G” ของหัวเว่ย ดังนั้น การดำเนินธุรกิจต่างๆ จะยังดำเนินไปเหมือนเดิม”

ทั้งนี้ ทางการจีน ได้กล่าวเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ หากมีการจัดการเจรจาทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศขึ้นอีกครั้ง จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่วอชิงตันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติต่อจีน

REUTERS/Stringer

และนับตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งทั่วโลกต่างร่วมใจกัน “แบน” การทำค้าขายกับหัวเว่ย ตามหลัง “กูเกิล” ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Intel, Qualcomm, Broadcom, Xilinx, Micron Technology, Western Digital ลามไปยัง Infineon Technologies ของเยอรมนี หรือแม้แต่ บริษัท ARM ผู้ออกแบบชิปเซตรายใหญ่ในสหราชอาณาจักร

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ตชั้นนำหลายรายของญี่ปุ่น ได้ประกาศใช้มาตรการในลักษณะเดียวกัน ทั้งยังมีการสั่งชะลอการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น “P30 Lite” จากเดิมที่มีกำหนดเปิดตัวในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้

และล่าสุด ในวันนี้ (23 พ.ค.) บริษัทพานาโซนิค ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศระงับความสัมพันธ์กับหัวเว่ยและบริษัทอีก 68 แห่งที่อยู่ในคำสั่งห้ามของสหรัฐด้วย

ทั้งนี้ รายงานข่าวของ “ซีเอ็นบีซี” ระบุว่า บริษัท LG Uplus Corp ของเกาหลีใต้ ซึ่งใช้อุปกรณ์หัวเว่ย ทีมฝ่ายผู้บริหารกำลังถูกรัฐบาลสหรัฐกดดันอย่างหนัก เรียกร้องให้ระงับคำสั่งซื้อและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย

ในฝั่งของจีนแม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะยังไม่มีคำประกาศที่ชัดเจนว่าจะตอบโต้สหรัฐอย่างไร แต่คำยืนยันจาก “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวเว่ย ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อจำกัดที่สหรัฐตั้งขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของหัวเว่ยมากนัก แม้ว่าที่ผ่านมาหัวเว่ยยังพึ่งพาเทคโนโลยีชิปของสหรัฐในการผลิตอุปกรณ์ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งหัวเว่ยซื้อจากสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เราพร้อมแล้วที่จะตั้งรับกับสหรัฐ

ที่น่าสนใจอีกหนึ่งปรากฏการณ์ ก็คือ กระแส “รักชาติ” ของชาวจีนต่อกรณีหัวเว่ย ที่ประชาชนชาวจีนผู้ใช้โซเชียลมีเดียลุกฮือตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ร่วมกันปลุกปั่นกระแส “บอยคอยแอปเปิล” ยักษ์ด้านโทรคมนาคมของสหรัฐ โดยส่วนใหญ่กล่าวโจมตีว่า สหรัฐ “กลั่นแกล้ง” จีนและหัวเว่ย ในฐานะผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวจีน ร่วมกันติดแฮชแท็กบน Weibo เว็บไซต์โซเชียลมีเดียยอดนิยมของชาวจีน โดยระบุสนับสนุน “หัวเว่ย” แทน “แอปเปิล” ขณะที่หลายคนพูดว่า “ตอนนี้พวกเขากำลังมองหาซื้อผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย เพราะความสามารถอาจจะเทียบเคียงกัน หรือดีกว่าด้วยซ้ำไป”

ส่วนชาวจีนที่ใช้แอปเปิลบางคน โพสต์ข้อความว่า “รู้สึกผิดที่ใช้แอปเปิล หากมีเงินจะเปลี่ยนมือถือทันที” กระแสต่างๆ เหล่านี้ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมถึง “โรด ฮอลล์” นักวิเคราะห์จาก โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ประเมินว่า ยอดจำหน่ายของแอปเปิลในตลาดจีนน่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น โดยคาดว่า ผลประกอบการของแอปเปิล อาจลดลง 29% ภายใต้สถานการณ์การแบนสินค้าในจีน

แม้แต่ รายงานที่ระบุว่า ซีรีย์ชื่อดัง “เกม ออฟ โธรนส์” (Game of Thrones) ตอนสุดท้าย ซึ่งฉายทาง HBO ไม่สามารถฉายในจีนได้ ซึ่งบริษัทอินเทอร์เน็ตเท็นเซ็นต์ เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ให้ฉายในจีน โดยออกมาแถลงเพียงว่า มีปัญหาทางเทคนิคจากเครื่องรับส่งสัญญาณ อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ชาวจีนบางส่วนพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ว่ามีความเกี่ยวข้องกับ “สงครามการค้า” ว่าอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ซีรีย์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในจีน

ศึกระหว่าง 2 มหาอำนาจของโลกนี้ยังคงต้องติดตาม โดยหลังจากนี้คาดว่าน่าจะยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรทั้งกับฝั่งจีนและสหรัฐ อาจจะออกมาประกาศความเคลื่อนไหวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ สงครามนี้ที่ลุกลามมาสู่วงการเทคโนโลยีดูๆ แล้วน่าจะยังยืดเยื้ออีกนานกว่าจะจบ

REUTERS/Damir Sagolj/File Photo