ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ‘นายแบงก์’ ตกงานนับแสน

TO GO WITH AFP STORY BY NATASHA YAZBECK A Lebanese man deposits money at a bank in Beirut on July 21, 2009. Lebanon's new government has yet to see the light, but its financial inheritance is already set: a public debt expected to top 50 million dollars by the end of the year. AFP PHOTO/JOSEPH BARRAK (Photo by JOSEPH BARRAK / AFP)

 

เทคโนโลยีล้ำสมัยที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น กำลังกระทบต่อตำแหน่งจ้างงาน “คน” โดยผลการศึกษาของ “เวลส์ ฟาร์โก” ผู้ให้บริการด้านการเงินรายใหญ่สัญชาติอเมริกาชี้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีพนักงานธนาคารในสหรัฐอเมริกัน ตกงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

“เวลส์ ฟาร์โก” ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เผยงานวิจัยล่าสุด ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลร่วมกับธนาคารหลายแห่งในสหรัฐชี้ว่า การลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในอุตสาหกรรมการเงิน มีสัดส่วนที่สูงมากขึ้น ธนาคารแต่ละแห่งคาดว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานนับ “หมื่นอัตรา” ในอนาคต เพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสามารถช่วยลดต้นทุนของธนาคารได้

“ไฟแนนเชียลไทมส์” รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ นายไมก์ มาโย นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทเวลส์ ฟาร์โก ซีเคียวริตีส์ ที่ระบุว่า “ยุคนี้เป็นยุคทองแห่งประสิทธิภาพของธนาคาร” โดยในแต่ละปีอุตสาหกรรมการเงินในสหรัฐได้ลงทุนมหาศาลไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี คิดเป็นมูลค่าราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นมาก

รายงานที่มีความยาวทั้งหมด 225 หน้าระบุว่า เทคโนโลยีเอไอสามารถลดต้นทุนในกระบวนการประมวลผลต่าง ๆ ของธนาคารได้ราว ๆ 10-20% ของค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมด

ตำแหน่งงานในธนาคารสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบอย่างสาหัสก่อน เช่น พนักงานระบบหลังบ้าน พนักงานต้อนรับ พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ พนักงานประจำสาขา และพนักงานประจำสำนักงานใหญ่ คาดว่าจะถูกเลิกจ้างราว 20-30% เช่นเดียวกับ “พนักงานคอลเซ็นเตอร์” ซึ่งธนาคารหลายแห่งทั่วโลกเริ่มใช้ “ระบบแชตบอต” (chatbot) สำหรับการถามตอบ และแก้ปัญหาให้กับลูกค้า

ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการขาย การให้คำแนะนำและคำปรึกษา อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากขึ้นในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า เนื่องด้วยมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้นต่อเนื่อง

“จอห์น ไครอัน” อดีตซีอีโอของธนาคารดอยช์แบงก์ของเยอรมนี เป็นรายแรก ๆ ที่ออกมาเตือนตั้งแต่ปี 2017 ว่า พนักงานแบงก์มากกว่าครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 97,000 ตำแหน่งของดอยช์แบงก์ จะหายไปเพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในเดือน ก.ค. ดอยช์แบงก์ได้สั่งปลดพนักงานไปแล้วถึง 18,000 ตำแหน่งทั่วโลก

ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมปะนี ที่ปรึกษาด้านการจัดการของสหรัฐ กล่าวกับ “บลูมเบิร์ก” ระบุว่า พนักงานประจำเคาน์เตอร์ และพนักงานต้อนรับ จะได้รับผลกระทบมาก ไม่ใช่กับในธุรกิจธนาคาร แต่อุตสาหกรรมอื่นก็มีแนวโน้มว่าจะถูกแทนที่ด้วย “ประชากรหุ่นยนต์” มากขึ้นถึง 1 ใน 3 ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งเมื่อปี 2018 ยอดจำหน่ายหุ่นยนต์ในทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มเป็น 415,700 ยูนิต จาก 381,335 ยูนิต ในปี 2017

สอดคล้องกับคำทำนายของ นายไมก์ คอร์แบต ผู้บริหารระดับสูงของซิตี้กรุ๊ป ที่ระบุว่า ระหว่างปี 2015-2025 พนักงานแบงก์ทั้งในสหรัฐและยุโรปรวมกัน เสี่ยงที่จะตกงานสูงเกือบ 2 ล้านตำแหน่ง ทั้งกล่าวถึงอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น อาทิ ธุรกิจอาหาร โดยยกตัวอย่าง ร้านพิซซ่าที่ชื่อ “Picnic” ในซีแอตเทิลที่ใช้ “พิซซ่าโรบอต” เพื่อลดการจ้างแรงงานคน ซึ่งเจ้าของร้านอ้างว่า ภายในเวลา 1 ชั่วโมง พิซซ่าโรบอตสามารถผลิตพิซซ่าขนาด 12 นิ้ว ได้ 300 ชิ้น เทียบกับพนักงาน 6 คน ที่ผลิตพิซซ่าได้สูงสุดเพียง 20 ชิ้น/ชั่วโมง


ผู้บริหารของซิตี้แบงก์กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อยกระดับสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นมีเพียงสิ่งเดียวที่แรงงานคนสามารถทำได้เพื่อเลี่ยงการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี นั่นคือการพัฒนาและเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญที่ยังจำเป็นต่อภาคธุรกิจ