กระตุ้นท่องเที่ยวเอเชีย สร้างปมภาระ “โรงพยาบาล”

AFP PHOTO / Yoshikazu TSUNO (Photo by AFP)

หลายประเทศเอเชียปัจจุบันต่างใช้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีกด้านก็สร้างภาระให้กับโรงพยาบาล จากการที่ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้

“นิกเคอิ เอเชียนรีวิว” รายงานว่า หลายประเทศในเอเชียกำลังมีปัญหาที่คล้ายกัน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลแต่ละประเทศอย่าง “ญี่ปุ่น” ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 31 ล้านคนในปี 2018 ตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ถึง 60 ล้านคนภายในปี 2030

กลายเป็นประเด็นสร้างความกังวลให้กับโรงพยาบาล เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากภาระค่ารักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี 2018 โรงพยาบาลราว 18% จากทั้งหมด 2,174 แห่งที่เปิดรับผู้ป่วยต่างชาติประสบปัญหามีค่ารักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ค้างชำระเกิน 1 เดือนขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 433,000 เยน (3,968 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อโรงพยาบาล

อย่างกรณี “ศูนย์สุขภาพและการแพทย์แห่งชาติกรุงโตเกียว” ระบุว่า นับตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติอย่างน้อย 3 รายที่ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวน ซึ่งมีรายหนึ่งค้างชำระค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 10 ล้านเยน (91,630 ดอลลาร์สหรัฐ)

“ยาซูโอะ ซูกิอูระ” ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพนานาชาติของศูนย์สุขภาพและการแพทย์แห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน 13% ของผู้ป่วยนอกเป็นชาวต่างชาติ “ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากที่นักท่องเที่ยวไม่มีประกันการเดินทาง หรือประกันไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจริง”

สำหรับกรณีของ “ไทย” ซึ่งในปี 2018 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2010 ทำให้โรงพยาบาลท้องถิ่นต้องรับภาระมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยชี้ว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระในโรงพยาบาลทั่วประเทศจากเดือน ต.ค. 2018-ก.ย. 2019 สูงถึง 448 ล้านบาท

ปีที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่าง “ภูเก็ต” มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 14 ล้านคน ส่งผลโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดในภูเก็ตต้องรับผู้ป่วยต่างชาติราว 9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย จีน และฝรั่งเศส ซึ่งมีกรณีค้างค่ารักษาพยาบาลเกือบครึ่งหนึ่ง

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลรับผู้ป่วยต่างชาติหลายพันคนทุกปี โดยเฉพาะผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งจากการเล่นกีฬาทางน้ำ การขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงการถูกสัตว์ทำร้าย ซึ่งการติดตามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเป็นไปอย่างยากลำบาก โรงพยาบาลได้ทำทุกวิถีทาง ทั้งการติดต่อไปยังผู้รู้จักชาวต่างชาติในไทย รวมถึงร้องเรียนไปยังสถานทูตเพื่อติดตามนักท่องเที่ยวให้กลับมาชำระค่ารักษาพยาบาลแต่มักไร้ผล

ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในเอเชียที่ประสบปัญหาเดียวกัน ทำให้บางประเทศใช้วิธีการออกกฎให้นักท่องเที่ยวต้องซื้อประกันการเดินทาง อย่าง “เกาหลีใต้” ได้ปรับปรุงกฎระเบียบเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ชาวต่างชาติที่พักในประเทศ 6 เดือนขึ้นไปต้องมีประกันภัย

สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายใหม่ที่บังคับให้ชาวต่างชาติที่ขอวีซ่าระยะเวลา 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เกษียณอายุต้องมีประกันภัย แต่สำหรับการท่องเที่ยวระยะสั้นยังไม่มีกฎระเบียบบังคับให้ซื้อประกัน

ขณะที่ญี่ปุ่นก็พยายามผลักดันให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันการเดินทางเช่นกัน แต่ข้อมูลของสำนักงานการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ระบุว่า มีราว 27% ของนักท่องเที่ยวเดินทางมาญี่ปุ่นไม่มีประกันภัย ทำให้หลายโรงพยาบาลเริ่มหาทางป้องกันตนเอง สำหรับปัญหาหนี้ค้างชำระค่ารักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยว

“ไอโออิ นิสเซ โดวา อินชัวรันซ์” (Aioi Nissay Dowa Insurance) บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นได้เปิดตัวโปรแกรมชดเชยค่าเสียหายจากค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้รับการชำระของผู้ป่วยต่างชาติให้กับโรงพยาบาลเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีโรงพยาบาลลงทะเบียนแล้วมากกว่า 10 แห่ง

อย่างไรก็ตาม “ยูจีน ตัน” ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ ระบุว่า รัฐบาลส่วนใหญ่จะระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวที่ค้างชำระค่ารักษาพยาบาลเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง รวมถึงการบังคับให้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องทำประกันภัย เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว

ขณะที่ “ยูโกะ ชิกาโน” ผู้ประสานงานด้านการแพทย์สำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่ศูนย์การแพทย์ NTT โตเกียว เสนอทางออกว่า โรงพยาบาลควรแจ้งแผนการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ล่วงหน้าในการประเมินความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เหมาะสมแต่ยังมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงปัญหาการชำระเงินในภายหลัง

“แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การช่วยชีวิต แต่ในบางกรณีก็อาจมีวิธีควบคุมค่าใช้จ่าย สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยนั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล” ชิกาโนกล่าว