10 ประเทศนวัตกรรมแห่งปี 2019 พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่

ในศตวรรษที่ 21 “นวัตกรรม” ถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศพยายามทิ้งอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม และแข่งกัน มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ตอัพ และสร้างผู้ประกอบการให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ปี 2019 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป หลายประเทศลงทุนและพัฒนานวัตกรรมอย่างมหาศาล เพื่อยกระดับศักยภาพในการรับมือปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมในสังคม

“บลูมเบิร์ก อินโนเวชั่น อินเด็กซ์” ได้สำรวจและจัดอันดับประเทศทั่วโลกมากกว่า 200 ประเทศที่มีการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมประจำปี 2019 โดย “เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่คว้าแชมป์อันดับ 1 ด้วยคะแนนสูงถึง 87.4 ซึ่งครองแชมป์ต่อเนื่องมานานถึง 6 ปี

ขณะที่อันดับ 2 เป็นของ “เยอรมนี” 87.3 คะแนน, อันดับ 3 “ฟินแลนด์” 85.6 คะแนน, อันดับ 4 “สวิตเซอร์แลนด์” 85.5 คะแนน และอันดับ 5 “อิสราเอล” ได้ 84.8 คะแนน

สำหรับอันดับ 6-10 คือ “สิงคโปร์” 84.5 คะแนน, “สวีเดน” 84.2 คะแนน, “สหรัฐอเมริกา” 83.2 คะแนน, “ญี่ปุ่น” 82 คะแนน และ “ฝรั่งเศส” 81.7 คะแนน

การจัดอันดับนี้ได้วิเคราะห์จากตัวชี้วัดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเงินในการลงทุนอาร์แอนด์ดี ปริมาณสิทธิบัตร การศึกษาระดับอุดมศึกษา การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ระดับการผลิตต่อจำนวนประชากร จำนวนบริษัทไฮเทคที่เป็นมหาชน และจำนวนนักวิจัย

ทั้งนี้แม้ว่า “เกาหลีใต้” จะมีเม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาเพียง 73,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐที่สูงถึง 476,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น 169,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีสูงถึง 4.3% ขณะที่สหรัฐและญี่ปุ่นคิดเป็นเพียง 2.7% และ 3.4% ตามลำดับ

นายกุน โก๊ะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป จำกัด ระบุว่า แม้เกาหลีใต้ยังคงอยู่อันดับ 1 แต่ก็มี “เยอรมนี” ที่ไล่จี้ติดห่างกันเพียง 0.1 คะแนน เกาหลีใต้จึงต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์และธุรกิจสตาร์ตอัพมากขึ้น

“นวัตกรรมกำลังมีความสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศเอเชียที่มีรายได้สูง และอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มก็กำลังถูกย้ายไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า” โก๊ะกล่าว

สำหรับ “เยอรมนี” ที่ขยับขึ้นมา 2 อันดับ เพราะปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น รวมถึงภาคธุรกิจที่พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น จากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างโฟล์คสวาเกน, บ๊อช และเดมเลอร์

อย่างไรก็ตาม “เจอร์เกน มิเชลส์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเบเยอร์ริสช์ แลนเดสแบงก์ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงและการเปลี่ยนนโยบายคนเข้าเมืองที่เป็นโจทย์ท้าทาย

ขณะที่สหรัฐอยู่อันดับ 8 ขยับขึ้นมาจากอันดับ 11 กลับมาติดใน top 10 อีกครั้ง ส่วน “จีน” แม้ไม่ได้ติด top 10 แต่เลื่อนขึ้นมา 3 ลำดับอยู่อันดับ 16 แม้ว่าจีนจะมีปริมาณการจดสิทธิบัตรมากขึ้น จากความแข็งแกร่งในการวิจัยและพัฒนาจากบริษัทชั้นนำอย่าง “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” และ “บีโออี เทคโนโลยีส์ กรุ๊ป” แต่ยังล้าหลังในด้านนวัตกรรมการผลิตในภาพรวม และความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐก็ฉุดรั้งการพัฒนาของจีนด้วย แต่การไต่อันดับขึ้นของจีนและการรักษาแชมป์ไว้ได้ของเกาหลีใต้ก็เป็นสัญญาณชี้ว่า เศรษฐกิจนวัตกรรมของเอเชียยังจะคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าโดยประเทศที่มีการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่การหันไปให้ความสำคัญกับนวัตกรรมจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไม่ใช่เพียงการจัดสรรทรัพยากรให้กับมนุษย์แต่ยังเป็นการค้นพบวิธีการ รูปแบบและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตและสังคมดีขึ้น