เปิดศึก ‘การทูตวัคซีน’ สมรภูมิใหม่ จีน-อินเดีย

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ช่วงแรก ๆ ที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดไปทั่วโลกและศูนย์กลางการระบาดย้ายไปยังยุโรป ขณะที่ “จีน” เริ่มจะตั้งตัวได้แล้วในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย จีนถูกผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศกล่าวหาว่า กำลังฉวยโอกาสใช้ “การทูตหน้ากาก” เพื่อสร้างภาพให้กับตัวเองและหวังผลประโยชน์ต่าง ๆ หลังจากจีนแสดงความใจดีด้วยการส่งหน้ากากอนามัยไปช่วยเหลือชาติยุโรป รวมทั้งหลาย ๆ ประเทศในเอเชียและแอฟริกา

มาถึงตอนนี้เมื่อโลกมาถึงขั้นผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 สายตาของนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศจับจ้องไปที่ “การทูตวัคซีน” โดยจับคู่ “จีนกับอินเดีย” ให้เป็นคู่แข่งขันที่น่าจับตา โดยเฉพาะในสมรภูมิแอฟริกา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ต่างพยายามเข้าไปแข่งขันสร้างภาพลักษณ์และมัดใจ ซึ่งนัยที่แฝงมาย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าคือความพยายามจะแข่งกันสร้างอิทธิพลด้วย “อำนาจอ่อน” ดังนั้นเท่ากับว่าวัคซีนกลายมาเป็นอาวุธใหม่ในการต่อสู้เพื่อชิงความได้เปรียบสูงสุดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้บทบาทของทั้งจีนและอินเดียเกี่ยวกับการแบ่งปันวัคซีนนั้น มีทั้งในรูปของการบริจาคให้ฟรีโดยเฉพาะประเทศยากจน และอีกส่วนหนึ่งเป็นการแบ่งจำหน่ายให้

ปัจจุบัน “อินเดีย” เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ในขณะที่ “จีน” ก็ผลิตวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาเอง โดยก่อนหน้านี้ประเทศแอฟริกาใต้พร้อมด้วยประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา เช่น อียิปต์ โมร็อกโก ได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับประชากรไปแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นวัคซีนจากจีน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งแอฟริกา เปิดเผยว่า อินเดียตกลงที่จะส่งมอบวัคซีนให้กับทวีปแอฟริกาอีก 400 ล้านโดส

นายซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในทวีปแอฟริกา เปิดเผยว่า ได้รับวัคซีนจากอินเดียไปแล้ว 1 ล้านโดส และคาดว่าภายในปลายเดือน ก.พ.นี้จะได้รับอีก 5 แสนโดส ก็หวังว่าจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ในประเทศที่ได้รับความเสียหายและทุกข์ยากจากการระบาดของโควิด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในวันเดียวกับที่แอฟริกาใต้ได้รับวัคซีนจากอินเดียนั้น จีนก็ได้ประกาศว่าได้บริจาควัคซีนให้กับปากีสถาน (คู่แข่งของอินเดีย) และต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนประกาศว่า นอกจากมอบวัคซีนให้ปากีสถานแล้ว ยังได้ส่งวัคซีนให้กับอีกหลายประเทศ ได้แก่ บรูไน เนปาล ฟิลิปปินส์ เมียนมา เขมร ลาว ศรีลังกา เซียราลีโอน ซิมบับเว และยังจะช่วยเหลืออีก 38 ประเทศ โดยระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกเพื่อแบ่งปันวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนา

“ลอว์เรนซ์ กอสติน” ผู้อำนวยการสถาบันโอนีลเพื่อการศึกษากฎหมายและการสาธารณสุขระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ระบุว่า อินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นเครื่องยนต์สำหรับการแจกจ่ายวัคซีนให้กับทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ขณะเดียวกันจีนและอินเดียตกอยู่ในการต่อสู้ด้านภูมิรัฐศาสตร์มาเป็นเวลาหลายปี และการแข่งขันนับวันยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยจีนมีประวัติศาสตร์มายาวนานว่าชอบแสวงหาประโยชน์ทั้งด้านการเมือง การพาณิชย์และการทูต ผ่านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น ใช้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อประโยชน์ด้านทหารและเศรษฐกิจ และตอนนี้ก็ใช้วัคซีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่อินเดียไม่มีประวัติว่าแสวงหาประโยชน์ผ่านความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข แต่มีประวัติว่าเป็นหุ้นส่วนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลประเทศอื่น ๆ ในแง่ที่จำหน่ายยา รวมทั้งวัคซีนในราคาที่พอซื้อหาได้ให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำ

“อัคฮิล เบรี” นักวิเคราะห์เอเชียใต้ของยูเรเซีย กรุ๊ป ระบุว่า อินเดียอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการแข่งขัน “การทูตวัคซีน” เพราะตอนนี้อินเดียผลิตวัคซีนในสัดส่วนประมาณ 60% ของการผลิตทั้งโลก “การแข่งขันการทูตวัคซีน ระหว่างจีนกับอินเดีย เกิดขึ้นแล้วในเอเชียใต้ และยังประกาศว่าจะบริจาควัคซีนให้ทวีปแอฟริกา 10 ล้านโดสในเบื้องต้น ขณะเดียวกันอินเดียบริจาควัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้านก่อนจีนเสียอีก และตอนนี้จีนก็พยายามวิ่งไล่ให้ทัน เราจะได้เห็น 2 ประเทศแข่งขันวัคซีนเพื่อการทูตกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อสร้างอิทธิพล”