‘คลองสุเอซ’ เปิดแล้ว แต่ปัญหาไม่จบ

ท่าเรือคลองสุเอซ (1)

เหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า “เอเวอร์ กิเวน” (Ever Given) ของบริษัท “เอเวอร์กรีน” ขวางทางการเดินเรือคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือสำคัญระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ได้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการค้าไปทั่วโลก

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้สถานการณ์จะคลี่คลายสามารถนำเรือยักษ์ขนาด 400 เมตร ออกจากบริเวณที่ขวางทาง และเส้นทางเดินเรือกลับมาสัญจรได้ตามปกติแล้ว แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อาจเรื้อรังไปอีกหลายเดือน

รายงานข่าวระบุว่า 12% ของการค้าขายทั่วโลก ใช้การขนส่งผ่านคลองสุเอซ โดยในแต่ละวันมีเรือขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซประมาณ 50 ลำ คิดเป็นมูลค่าสินค้า 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขนส่งไปยุโรป 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และไปยังเอเชียและตะวันออกกลางอีก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อปี 2019 เรือขนส่งสินค้าสัญจรผ่านคลองมากกว่า 19,000 ลำ คิดเป็นน้ำหนักสินค้าเกือบ 1.25 พันล้านตัน

แม้ว่าเรือขนส่งสินค้าขนาดยักษ์จะไม่ได้ขวางทางเดินเรือคลองสุเอซแล้ว แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ยังไม่สิ้นสุด นอกจากปัญหาสินค้าบนเรือขนส่งผ่านคลองสุเอซ จะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างล่าช้า ซึ่งมีตั้งแต่น้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), ไบโอดีเซล ไปจนถึง ชิ้นส่วนรถยนต์, สัตว์มีชีวิต, กาแฟ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ขณะที่เรือบางลำไม่รอให้สถานการณ์คลี่คลาย ได้เลือกใช้เส้นทางแล่นอ้อมทวีปแอฟริกา ผ่านแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มอีก 10 วัน

หน่วยงานบริหารจัดการคลองสุเอซ “สุเอซ คานาล ออโตริที” (SCA) ระบุว่า จะเร่งเคลียร์เรือที่ติดสะสมถึง 422 ลำ ภายใน 3 วัน โดยตัวเลขเรือค้างสะสมแท้จริงอาจมีมากกว่านี้

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จะมีผลกระทบมากกว่าการขนส่งสินค้าที่ไปถึงจุดหมายล่าช้ากว่ากำหนด เพราะปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้มีเรือขนส่งสินค้าติดค้างอยู่ตามท่าเรือจำนวนมาก

“เลนนาร์ท เวอร์สตาเปน” โฆษกหน่วยงานกำกับดูแลท่าเรือแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม เป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ในยุโรป กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีเรือมาจอดเทียบท่ารอขนส่งสินค้าจำนวนมาก ซึ่งทำให้ท่าเรือเกิดปัญหาความแออัดต่อเนื่องไปอีกหลายอาทิตย์ หรือหลายเดือน และไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่าผลกระทบจะยาวนานอีกเท่าไร

“เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งซัพพลายเชน ไม่ใช่แค่เรือที่เข้าเทียบท่า แต่เรือที่เดินทางออกจากท่าเรือด้วย เพราะท่าเรือแอนต์เวิร์ปไม่ได้เป็นแค่เพียงท่าเรือสำหรับนำเข้าสินค้า แต่ยังมีการส่งออกสินค้าด้วย” เวอร์สตาเปนกล่าว

โดยแหล่งข่าวระบุว่า ท่าเรือต้องมีการจัดการไม่ให้เรือ “แออัด” อย่างไม่เป็นระบบ เพราะจะทำการเดินเรือขนส่งสินค้าอื่น ๆ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยจากเหตุการณ์นี้จะทำให้มีเรือจำนวนมากที่ไปแออัดอยู่ที่ท่าเรือแถบยุโรป รวมถึงท่าเรือแถบเอเชีย และตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน “แจน ฮอฟฟ์แมน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า องค์การสหประชาชาติระบุว่า ท่าเรือแถบยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน กว่าที่จะสามารถจัดการปัญหากับการขนส่งสินค้าทางเรือที่ล่าช้าได้

“แอนดรูว์ คินซีย์” ที่ปรึกษาความเสี่ยงการส่งสินค้าทางเรือ บริษัทอไลแอนซ์ โกลบอล คอร์เปอเรต กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำลายซัพพลายเชนหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะซัพพลายตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ค่อนข้างขาดแคลนอยู่แล้วทั่วโลก เพราะเรือที่ติดค้างอยู่มีจำนวนมากที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เพื่อมาบรรทุกสินค้าใหม่อีกด้วย

นอกจากนี้ สินค้าอย่างเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าตั้งแต่สมาร์ทโฟน เครื่องเล่นเกม ไปจนถึงรถยนต์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอยู่ตอนนี้ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าดังกล่าวก็อาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น

โดย “วอลเตอร์ ชาลก้า” ซีอีโอบริษัท “ซูสาโน เอสเอ” ผู้ผลิตเยื่อไม้และกระดาษรายใหญ่ของโลกระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทกำลังประสบปัญหาการนำเข้าวัสดุสำหรับการผลิตกระดาษทิสชู และมีแนวโน้มที่อาจจะขาดตลาดในอนาคตได้

คินซีย์ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบกับทุกภาคส่วนแน่นอน และต้องเฝ้าระวังถึงผลกระทบต่าง ๆ ในอนาคต เพราะเหตุการณ์นี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนข้างหน้า