ทำความรู้จัก “JD.com” ยักษ์อีคอมเมิร์ซผู้ท้าทาย “แจ็ก หม่า”

ยุคที่ธุรกิจจีนครองโลก หลาย ๆ คนคงรู้จักแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ “อาลีบาบา” ของแจ็ก หม่า ทั้งเถาเป่าและทีมอลล์เป็นอย่างดี ในฐานะอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ที่สุดในจีน แต่สำหรับ “JD.com” ซึ่งล่าสุดประกาศบุกเมืองไทยด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเซ็นทรัล เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้จักอย่างถ่องแท้ ในฐานะคู่แข่งคนสำคัญของอาลีบาบา และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน

JD.com ก่อตั้งโดย “ริชาร์ด หลิว” หรือหลิว เชียงตง ในปี 1988 เริ่มจากการเป็นร้านขายอุปกรณ์ไอทีในย่านจงกวานซุนของปักกิ่ง ก่อนที่จุดพลิกผันจะเกิดขึ้นในปี 2003 ที่เกิดเหตุโรคซาร์สระบาดในเอเชีย ทำให้หลิวตัดสินใจก่อตั้งร้านค้าออนไลน์ jdlaser.com ในปี 2004 และนี่คือจุดเริ่มต้นของอีคอมเมิร์ซจีนที่ได้ชื่อว่า “อเมซอนแห่งจีน” (ตัวจริง)

นักวิเคราะห์หลายเสียงเปรียบ JD.com ว่าคือ Amazon.com เพราะ JD.com มีการลงทุนโครงข่ายโลจิสติกส์จำนวนมหาศาล ทั้งศูนย์กระจายสินค้าในจีนกว่า 6,900 แห่ง และพนักงานส่งสินค้ากว่า 7 หมื่นคน (จากพนักงานราว 120,000 คน) รวมถึงการจัดแพ็กเกจ ตลอดการสต๊อกสินค้าด้วยตัวเอง ทำให้สามารถส่งด่วนภายใน 1 วัน ได้เหมือนอเมซอนใน 43 เมืองใหญ่ของจีน ทั้งมั่นใจได้ว่าสามารถส่งมอบสินค้าคุณภาพและของแท้ให้แก่ลูกค้า ซึ่งแตกต่างจากอาลีบาบา ที่เป็นอีคอมเมิร์ซในลักษณะของมาร์เก็ตเพลซที่ให้ผู้ค้ารายย่อยเข้ามาใช้เป็นช่องทางขายสินค้า

และปี 2014 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ JD.com หลังจากที่ “เทนเซนต์” ยักษ์ไอทีแห่งจีน ที่พ่ายแพ้ในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซในประเทศ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น 15% ใน JD.com พร้อมโอนธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเทนเซนต์ทั้งหมดให้ JD.com ดูแล ส่งผลให้จำนวนลูกค้าของ JD.com เพิ่มเป็น 90 ล้านคน จากก่อนหน้าที่มีเพียง 47.4 ล้านคน

นอกจากนี้ในปี 2016 ยังได้จับมือกับ “วอลมาร์ต” ห้างค้าปลีกยักษ์ของอเมริกา หลังจากวอลมาร์ตล้มเหลวกับการบุกตลาดจีน จนต้องขายกิจการให้ JD.com แลกกับการเข้าถือหุ้น 5.9% โดยที่ JD.com ได้ใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าของวอลมาร์ตในหลายเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เสิ่นเจิ้น นอกจากนี้ยังได้สินค้าจากวอลมาร์ตเข้ามาเติมบนหน้าเว็บ ทำให้สินค้าจากวอลมาร์ต โอกาสขายไปในเมืองเล็ก ๆ ซึ่ง JD.com เข้าถึงมากกว่าและเมื่อปี 2016 วอลมาร์ตก็ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 10.8%

นอกจากธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ที่เป็นตัวชูโรงแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา JD.com ก็ได้ขยายอาณาจักรด้านการเงินออกมาต่อกรกับแอนต์ ไฟแนนเชียลของอาลีบาบาด้วย ภายใต้ชื่อว่า “JD Finance” ทำธุรกิจฟินเทคให้บริการทั้งเงินกู้ ประกัน และหลักทรัพย์อีกด้วย

พร้อมทั้งการขยายสู่ธุรกิจคลาวด์คอมพิวเตอร์ของตัวเอง และเริ่มทดลองการใช้โดรนในการส่งสินค้า ซึ่งซีอีโอหลิวแห่ง JD.com บอกว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามาปฏิวัติวงการค้าปลีกในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

นอกจากการรุกขยายอาณาจักรในประเทศจีน JD.com ยังเปิดเกมรุกธุรกิจนอกประเทศ โดยในปี 2015 มีการเปิดตัว “JD Worldwide” และเลือก “รัสเซีย” ในฐานะตลาดต่างประเทศแห่งแรก โดยทำเว็บไซต์ภาษารัสเซีย (www.jd.ru) เพื่อเตรียมก้าวขึ้นเป็นอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในรัสเซียภายใน 5 ปี จากนั้นในปีเดียวกัน ก็ได้จับมือกับเว็บไซต์ “Iknow” บุกตลาดสิงคโปร์ ทำให้สามารถจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องรอส่งจากจีน

ในปี 2016 JD.com ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพช็อปปิ้ง “Wish” ของสหรัฐอเมริการาว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในอีคอมเมิร์ซอเมริกาครั้งแรก จากนั้นในปี 2017 ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัทโลจิสติกส์ญี่ปุ่น “ยามาโตะ” ทำให้ชาวจีนสามารถเลือกซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะพืช ผัก และผลไม้

พร้อมกันนั้น ก็ได้ลงทุนราว 100 เหรียญสหรัฐ ในสตาร์ตอัพบริการรถจักรยานยนต์ร่วมเดินทาง (ride-hailing) ชื่อว่า “Go-Jek” ของอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นอีกก้าวในการบุกตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยังมีโอกาสทางด้านอีคอมเมิร์ซอีกมาก

ล่าสุด JD.com ประกาศจับมือกลุ่มเซ็นทรัล ลงทุนขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทคในประเทศไทย โดยลงทุนร่วมกัน เม็ดเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเล็งยกไทยเป็นฮับอีคอมเมิร์ซแห่งอาเซียน จากที่ตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียนกำลังโตอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวของชนชั้นกลาง

การเปิดเกมรุกของอันดับ 2 อย่าง JD.com อาจทำให้อันดับหนึ่งอย่าง “อาลีบาบา” หนาว ๆ ร้อน ๆ ได้บ้าง แต่หากเทียบตัวเลขข้อมูลจากเว็บไซต์ “ไชน่า อินเทอร์เน็ต วอตช์” ในไตรมาส 2 ปี 2017 อาลีบาบายังครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกออนไลน์แบบ B2C ไปมากถึง 51.3% ขณะที่ JD.com ตามมาที่ 32.9%

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอริชาร์ด หลิว เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า เป้าหมายของเขาคือการเอาชนะอาลีบาบาภายใน 5 ปี พร้อมระบุว่า การวางรากฐานให้กับ JD.com ไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นผลภายใน 1-2 ปี แต่มองในระยะยาว 10-20 ปี โดยหลิวยังบอกกับบรรดาพาร์ตเนอร์ว่าให้เชื่อใจ และอดทนกับกลยุทธ์ของเขา “ใครสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้คือผู้ชนะ”

ก็ต้องดูกันต่อไปยาว ๆ ว่า “ศึกอีคอมเมิร์ซ” (ระดับโลก) ครั้งนี้ ใครจะก้าวขึ้นบัลลังก์เจ้าตลาดที่แท้จริง