ยุโรปเจอปัญหาคนไม่ใช้เงิน สกัดการขยายตัวเศรษฐกิจ

 

ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรป (อียู) คาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ของภูมิภาคจะขยายตัวสูงถึง 4.8% หลังจากช่วงต้นปีหลายประเทศออกมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว ทำให้คุมโควิด-19 ได้ระดับหนึ่ง จนนำมาสู่การเริ่มคลายล็อกดาวน์ ให้ธุรกิจกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง โดยเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศยุโรป ซึ่งต้องการควบคุมโควิด ให้ได้ก่อนช่วง “ไฮซีซั่น” หน้าท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนของยุโรป ซึ่งหลายประเทศถือเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันต่าง ๆ เป็นกังวลว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศแถบยุโรปตอนนี้อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ หลังประชาชนยังไม่ยอมออกมา “ใช้จ่ายเงิน”

“มาร์เชล อเลซานโดรวิคช์” นักเศรษฐศาสตร์ยุโรป สถาบันการเงินเจฟฟรีส์ กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้คนไม่ยอมออกมาใช้จ่ายเงินเนื่องจากโควิด-19 ซึ่งระบาดมาแล้วกว่า 18 เดือน ทำให้ผู้คนคุ้นชินกับการทำงานจากบ้าน และยังคงระวังเรื่องการใช้จ่ายเงิน

“พอล โอคอนเนอร์” ประธานด้านการลงทุน ในสหราชอาณาจักร (ยูเค) บริษัท เจนัสเฮนเดอร์สัน กล่าวว่า ถึงแม้จะมีปัจจัยบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง จากที่ผู้คนเริ่มออกไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ ช็อปปิ้ง และฟิตเนสเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังระมัดระวังในการใช้จ่าย

“ผู้คนยังลังเลที่จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ทั้งที่สหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบริเวณรอบออฟฟิศ อย่างเช่นร้านอาหารและร้านกาแฟ เนื่องจากผู้คนยังเลือกที่จะทำงานที่บ้าน”

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า จากแบบสำรวจของบริษัทวิจัย “อิพซอส มอริส” (Ipsos Moris) เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรมากกว่า 40% ยังคงไม่สบายใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และมากกว่า 40% ก็ยังไม่สบายใจที่จะออกไปในพื้นที่ที่คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก อย่างงานแข่งขันกีฬา หรือคอนเสิร์ต เป็นต้น

และอีกสาเหตุที่พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเช่นนี้ เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในยุโรป โดยนักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยแพนทีออน แมคโครอีโคโนมิกส์ ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้คนยังไม่กล้าออกไป “ใช้ชีวิต” ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโรคระบาด

ปัจจัยนี้ทำให้แพนทีออน แมคโครอีโคโนมิกส์ ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไตรมาส 3 ของสหราชอาณาจักร ทั้งระบุว่า แนวโน้มสถาบันการเงินต่าง ๆ คงจะปรับลดการขยายตัวของจีดีพีในกลุ่มประเทศอียูลงมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ “เบิร์ท โคลจิน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส สถาบันการเงินอิงค์ w(ING) ระบุว่า ช่วงไตรมาส 3 นี้การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าทำให้หลายประเทศเลื่อนระยะเวลาการคลายล็อกดาวน์ออกไป ทำให้บางธุรกิจยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้

“นีล เชียร์ริ่ง” หัวหน้านักเศรษฐกิจ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ คาดการณ์ว่า ประเทศ ที่เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ ในไตรมาส 3 นี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะช้าลง เป็นเพราะหลายประเทศไตรมาส 2 เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับก่อนช่วงโควิดแล้ว