สหรัฐฯ ประกาศมอบเงิน 5 ล้านเหรียญ ให้ประเทศไทย สู้วิกฤตโควิด

“ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ ประกาศช่วยเหลือมออบเงินมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 167.3 ล้านบาท) ให้กับประเทศไทย เพื่อสู้กับโควิด รอบใหม่

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้มีเผยแพร่ข่าว ระบุว่า นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ ได้ประกาศความช่วยเหลือด้านโรคโควิด-19 รอบใหม่ มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19

ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ
ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ

นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ กล่าวที่ศูนย์ฉีดวัคซีน โรงพยาบาลเมดพาร์ค ว่า ดิฉันอยู่ที่นี่วันนี้ ในฐานะตัวแทนของประธานาธิบดีไบเดน เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่เรามีต่อชาวประเทศไทยระหว่างวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ สหรัฐฯ ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศไทยมากว่า 200 ปี

“เรามีความร่วมมือที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน ไปจนถึงพันธมิตรทางการทหารที่แน่นแฟ้น และความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความสัมพันธ์ของเรามีรากฐานอยู่บนค่านิยมที่ชาติของเราทั้งสองมีร่วมกันเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงภูมิใจที่ได้มาที่โรงพยาบาลเมดพาร์คในวันนี้”

นางลินดา ระบุต่อว่า ตนรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้เห็นการดำเนินการของประเทศไทยในการฉีดวัคซีนและปกป้องประชาชนด้วยวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ ได้มอบให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อเช้านี้ได้มีโอกาสพบกับบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ผู้ซึ่งเป็นวีรบุรุษและวีรสตรีของประเทศไทย ในขณะที่พวกเขาได้รับวัคซีนเข็มแรก และดิฉันรู้สึกเกิดแรงบันดาลใจที่ได้ฟังเรื่องราวของพวกเขาในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาชีวิต

ตนยังได้รับฟังสรุปเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยปลอดภัย นับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดใหญ่ สหรัฐฯ ได้มอบเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์สำคัญอื่น ๆ ให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคโควิด-19

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ชาวอเมริกันยังทำงานเคียงข้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศไทยในการต่อสู้กับไวรัสที่เลวร้ายนี้ด้วย

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ ระบุอีกว่า ในการยุติโรคโควิด-19 เราทราบดีว่า เราต้องทำงานร่วมกัน เชื้อโควิดนั้นไร้พรมแดน ไวรัสนี้ไม่สนใจว่าเรามาจากประเทศไทย หรือสหรัฐฯ หรือเมียนมา หรือลาว และไม่มีชาติหนึ่งชาติใดจะสามารถหยุดโรคระบาดใหญ่ได้โดยลำพัง การกำจัดเชื้อไวรัสนี้จะต้องใช้ความสามารถ ความเป็นผู้นำที่มีหลักการ และความร่วมมือของทุกชาติบนโลก

ประธานาธิบดีไบเดน ได้ให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะมอบวัคซีนให้กับทั่วโลก ท่านประธานาธิบดีเข้าใจดีว่า ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ดังนั้น เราจึงกำลังบริจาควัคซีนกว่า 500 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และปราศจากเงื่อนไขใด ๆ

สำหรับประเทศไทย เราได้จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งดิฉันเพิ่งจะได้เห็นการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เรายังภูมิใจที่จะจัดส่งวัคซีนอีก 1 ล้านโดส เร็ว ๆ นี้ด้วย เรายังทราบอีกว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการรับมือกับความต้องการด้านมนุษยธรรม อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ในพม่า

ในวันนี้ ดิฉันภูมิใจที่จะประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะมอบความช่วยเหลือ มูลค่า 55 ล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็นความช่วยเหลือเพื่อการดำเนินการตอบสนองด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ เราจะให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการรับมือต่อการระบาด ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

“เราจะมอบความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จำนวน 5 ล้านเหรียญให้กับประเทศไทย ซึ่งจะให้การสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19 ด้วย”

ส่วนเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวน 50 ล้านเหรียญนั้น จะมอบให้กับภาคีองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐโดยตรง เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกรณีฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ที่พักพิง การให้บริการสาธารณสุขหลัก น้ำ การส่งเสริมสุขภาพ และบริการด้านสุขอนามัยต่าง ๆ แก่ประชากรกลุ่มเปราะบางจากเมียนมา ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 700,000 คน

ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทย องค์กรนอกภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศสามารถตอบโต้วิกฤตการณ์โควิด-19 และตอบสนองต่อความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนฝั่งประเทศไทย

“ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ยากลำบากทั้งที่ประเทศไทยและในทั่วโลก และดิฉันอยากจะให้คนประเทศไทยทราบว่า สหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างพวกท่านต่อไป”