คำเตือนจาก “เอดีบี” “โลกร้อน” ทำเศรษฐกิจเอเชียเสี่ยง

ยิ่งภาวะอากาศปรวนแปรไปในทางสุดโต่งมากขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์ก็เริ่มตระหนักมากขึ้นตามไปด้วยว่า คำเตือนของนักวิทยาศาสตร์เรื่องภาวะ “โลกร้อน” จะก่อให้เกิดปัญหาระดับวิกฤตต่อมนุษยชาตินั้นน่าจะเป็นจริงมากขึ้นทุกที ที่น่าคิดก็คือ ยิ่งนับวัน คำเตือนที่คิดกันว่าน่าจะเป็นจริงนั้น กลับแย่ลงเรื่อย ๆ เช่นกัน

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) จัดพิมพ์เผยแพร่รายงานล่าสุด ซึ่งทางเอดีบีร่วมกับสถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากภูมิอากาศ จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อนต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะ

การประเมินความเสี่ยงดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานของการ “ไม่ทำอะไรเลย” ของทุกคนในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ (ปี ค.ศ. 2100) เชื่อว่า อุณหภูมิของแผ่นดินใหญ่เอเชียโดยรวมจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 6 องศาเซลเซียส บางพื้นที่ บางประเทศ อุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงขึ้นมากกว่านั้น อาทิ ทาจิกิสถาน, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน และพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน

ทางสถาบันคาดการณ์ว่าอุณหภูมิ ณ สิ้นศตวรรษจะเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 8 องศาเซลเซียสที่แน่นอนที่สุดภาวะดังกล่าวทำให้เกิดขึ้นก็คือ ระบบอากาศในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ตั้งแต่การทำเกษตรกรรมและการทำประมง, ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งบนบกและในน้ำ, การค้า, การพัฒนาชุมชนเมือง, การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และสุขภาพ เรื่อยไปจนถึงก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทั้งภายในประเทศและในระดับภูมิภาค

“รุนแรงถึงขนาดอาจเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดสำหรับบางประเทศอีกด้วย” เอดีบีย้ำ

พื้นที่แผ่นดินส่วนใหญ่ของเอเชียจะมีฝน (รวมถึงหิมะ) ตกหนักเพิ่มมากขึ้นกว่า 50% แต่จะกลับตรงกันข้ามในบางประเทศ อย่างเช่น ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ปริมาณฝนจะน้อยลงไปอีกราว 20-50% จากระดับปัจจุบัน เมืองใหญ่ 19 เมืองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะตกอยู่ในสภาพเสี่ยงกับ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากระดับทุกวันนี้ถึง 1 เมตร

โดยใน 19 เมืองนั้น 7 เมืองตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่ประเทศที่จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งทะเลจนได้รับผลกระทบมากที่สุดตามการประเมินของสถาบันพอตสดัมกลับเป็น “อินโดนีเซีย”

ข้อมูลของสถาบันพอตสดัม ยังระบุอีกด้วยว่า 13 เมืองจาก 20 เมืองแรกสุดที่จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดจากภาวะน้ำท่วมประจำปีระหว่างปี 2005-2050 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกครั้งใหญ่ดังกล่าว จะส่งผลให้การผลิตอาหารในภูมิภาคนี้ยากลำบากมากขึ้น และจะส่งผลให้ราคาธัญญาหารในภูมิภาคสูงขึ้นตามไปด้วย จากการประเมินทางวิชาการพบว่า บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลผลิตข้าวที่ได้แต่ละปีจะลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 50% ภายในปี 2100 หากยังไม่มีความพยายามปรับเปลี่ยนใด ๆ

ระบบนิเวศวิทยาทางทะเล โดยเฉพาะในบริเวณแปซิฟิกตะวันตกจะตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงเมื่อสิ้นศตวรรษ สาเหตุเพราะอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำเพียง 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ปะการัง 89% เกิดภาวะฟอกขาวรุนแรง ทำลายห่วงโซ่เชิงนิเวศที่เกี่ยวพันไปถึงการทำประมง และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2050 คาดว่าปริมาณการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อนของอากาศในหมู่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 52,000 ราย ต่อปีจากการประเมินขององค์การอนามัยโลก ในขณะที่ความตายจากโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ อาทิ มาลาเรียและไข้เด็งกี จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ภาวะโลกร้อนจะส่งผลคุกคามความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคยังคงพึ่งพาพลังงานที่ได้จากฟอสซิล ซึ่งถือเป็นพลังงานไม่ยั่งยืนอยู่ต่อไป แต่ศักยภาพของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากความร้อนก็ลดลง เนื่องจากขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการหล่อเย็น เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำก็จะเป็นปัญหาเนื่องจากภาวะไม่แน่นอนของการปล่อยมวลน้ำและปัจจัยอื่น ๆ

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นคำเตือนจากเอดีบีว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด กลายเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในแง่ที่จะได้รับผลกระทบในระดับหายนะจากภาวะโลกร้อน และเพราะภูมิภาคนี้เป็นที่อยู่ของประชากรยากจน 2 ใน 3 ของประชากรยากจนทั้งโลก ทำให้ความเสี่ยงที่จะตกลงสู่ความยากจนลึกลงไปอีก ทำลายพัฒนาการทั้งหลายที่สั่งสมมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ไปเพราะภาวะโลกร้อนก็มีมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ

ทางออกจึงหนีไม่พ้นเร่งดำเนินการตามเป้าหมายการลดอุณหภูมิโลกลงให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด พร้อมกับเร่งศึกษาหามาตรการรับมือและบรรเทาผลกระทบเหล่านั้นให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง