วิกฤตพลังงาน “จีน” สะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งอย่าง “โกลด์แมน แซกส์” และ “โนมูระ” ได้หั่นคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศจีนในปีนี้ (2021) จากผลกระทบของวิกฤตพลังงาน

โดย โกลด์แมน แซกส์ ได้ปรับลดคาดการณ์จาก 8.2% ลงเหลือ 7.8% ขณะที่โนมูระ หั่นการขยายตัวของจีดีพีจาก 8.2% เหลือเพียง 7.7%

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “วิกฤตพลังงาน” ของประเทศจีน ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งจะขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลกด้วย

สาเหตุที่ทำให้จีนเกิด “วิกฤตพลังงาน” จนทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า มี 2 สาเหตุหลัก ประเด็นแรกมาจาก ทางการจีนต้องการลดมลพิษภายในประเทศ จึงได้ออกคำสั่งให้ 20 มณฑลของจีน จะต้องถูก “ตัดไฟบางส่วน” เพื่อลดการใช้พลังงาน พร้อมกับขอให้
ประชาชนร่วมมือกันลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศ

มาตรการนี้จึงครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะด้านการผลิตที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ จึงได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวด้วย

ส่งผลให้หลากหลายฐานการผลิตได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องระงับการผลิตในประเทศจีนชั่วคราว อย่างเช่น “อีสัน พรีซิชั่น เอ็นจิเนียริ่ง” บริษัทในเครือ “ฟ็อกซ์คอนน์” ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของบริษัท “แอปเปิล” และ “เทสลา”

โดยทางบริษัทได้ประกาศว่า จะระงับการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน จนถึง 1 ตุลาคมนี้ หลังจากฐานการผลิตในเมืองคุนซาน อยู่ในพื้นที่ที่ต้องลดการใช้งานพลังงานไฟฟ้า

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ลูกค้าที่สั่งจองไอโฟน 13 กับแอปเปิล อาจต้องรอนานมากกว่า 1 เดือน เนื่องจากติดปัญหาระบบซัพพลายเชน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานการผลิตในจีนมีปัญหา

รวมถึงท่าเรือที่เมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดในตอนเหนือของประเทศจีน ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนไฟฟ้าเช่นกัน จนถึงระดับที่ต้องแบ่งไฟฟ้าสำหรับการใช้ปั้นจั่นในการยกตู้คอนเทนเนอร์สินค้าจากเรือสู่ฝั่ง ซึ่งผลกระทบนี้จะลากยาวจนถึงสัปดาห์หน้า

และอีกสาเหตุที่ทำให้จีนเกิดวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจาก “ราคาถ่านหิน” ที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าสูงขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศจีนกับออสเตรเลีย ซึ่งเดิมออสเตรเลียส่งออกถ่านหินให้จีนจำนวนมหาศาล แต่ปัญหาข้อพิพาทรุนแรงขึ้น จีนจึงจำกัดการนำเข้า และพยายามจัดหาถ่านหินจากแหล่งอื่นแทน ที่มีราคา
สูงขึ้น ทำให้ขณะนี้จีนก็เผชิญกับภาวะขาดแคลนถ่านหิน

ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลด้านราคาไฟฟ้าของจีน ก็มีการควบคุมค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนและธุรกิจ ให้อยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้โรงไฟฟ้าปรับขึ้นราคาได้ไม่มาก ทำให้โรงไฟฟ้าทั้งหลายเผชิญปัญหาขาดทุนอย่างหนัก

จากปัญหาดังกล่าว โรงไฟฟ้าจึงเลือกที่จะชะลอกำลังการผลิตลง ซึ่งสวนทางกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ประกอบกับปัญหาดังกล่าวมารุนแรงในช่วงที่ผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งบริษัทด้านการขนส่งทั้งหลายกำลังเร่งส่งออกสินค้า ตั้งแต่เสื้อผ้า ไปจนถึงของเล่น ตามความต้องการที่พุ่งกระฉูด

โดยเฉพาะในช่วงนี้ซึ่งใกล้ช่วงวันหยุดปลายปี ขณะที่ปัจจุบันซัพพลายเชนการขนส่ง ก็เผชิญปัญหาหนักอยู่แล้ว ตั้งแต่ราคาต้นทุนพุ่งสูง และวิกฤตขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของจีนจึงออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า วิกฤตพลังงานจะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ต่อการส่งออก เพราะเพียงแค่มณฑลเจียงซู, เจ้อเจียง และกวางตุ้ง ก็มีมูลค่าการส่งออกโดยรวมคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจีดีพีทั้งประเทศ

และอาจทำให้ร้านค้าทั่วโลกเผชิญปัญหาในการจัดการสินค้าในสต๊อก ทำให้ของขาดตลาด และอาจทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้น จนเกิดภาวะเงินเฟ้อได้

“โกลด์แมน แซกส์” ระบุว่า วิกฤตพลังงานนี้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศจีน จะได้รับผลกระทบมากถึง 44%

ขณะที่ “โจฮาน อานเนลล์” พาร์ตเนอร์ของบริษัทที่ปรึกษา “เอเชีย เพอร์สเปกทีฟ” กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทต่างประเทศบางแห่งลังเลที่จะลงทุนในจีน และหลังจากเจอปัญหาวิกฤตพลังงานก็ตัดสินใจที่จะไม่ลงทุนในจีนแล้ว

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า จีนอาจตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อปลดล็อกต้นทุนแก้วิกฤตพลังงาน