ชีพจรเศรษฐกิจโลก ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ในแอฟริกาใต้ และที่ประชุมฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็น “แวเรียนต์ออฟคอนเซิร์น” ซึ่งหมายถึงการเป็นเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่คุกคามต่อโลกในระดับสูง ให้กับ “โอไมครอน” (บี.1.1.529) เชื้อกลายพันธุ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งโลกก็คล้ายจะเดินย้อนกลับไปเริ่มต้นเหมือนเมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่อีกครั้งอย่างเฉียบพลัน
หลายต่อหลายประเทศทยอยประกาศปิดพรมแดน ห้ามการเดินทางจากบรรดาประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ต่อด้วยการห้ามการเดินทางจากประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน ที่เริ่มต้นจากเพียงไม่กี่ประเทศ กลายเป็น 15 ประเทศไปในชั่วระยะเวลาเพียง 5 วัน
บางประเทศ อาทิ อิสราเอลและญี่ปุ่น ถึงกับประกาศห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศโดยสิ้นเชิง
ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกผันผวนอย่างหนัก นักลงทุนวิ่งหา “เซฟเฮเวน” เกิดการเทขายในหลายตลาด กดหุ้นการบิน หุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เดินทาง ถล่มราคาน้ำมันดิบที่แกว่งตัวอยู่ในระดับสูงร่วงลงแรงอย่างน่าใจหาย
สถานการณ์รุนแรงจนก่อให้เกิดความรู้สึกประหนึ่งว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้ มากเกินความจำเป็นไปไม่น้อย
แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์อันตรายตัวใหม่นี้ก็จะพบความเป็นเหตุเป็นผลของอาการตื่นตระหนกดังกล่าว นักวิเคราะห์หลายคนยังคงยืนยันหลังจากที่ตลาดเริ่มกลับคืนสู่ความสงบได้แล้วว่า “โอไมครอน” คือปัจจัยคุกคามเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวของทั้งโลกได้โดยแท้จริง
เหตุผลสำคัญประการแรกสุดก็คือ “โอไมครอน” มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งอาละวาดอย่างหนักอยู่ทั่วโลก และได้ชื่อว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดเร็วที่สุดก่อนหน้านี้
โอไมครอน เป็นเชื้อที่มีการกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา พันธุกรรมของโอไมครอน เปลี่ยนแปลงไปจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 ดั้งเดิมในประเทศจีนถึง 50 ตำแหน่ง
การกลายพันธุ์ทั้งหมดที่ว่านั้น มีมากถึง 32 ตำแหน่งที่เกิดขึ้นกับโปรตีนหนาม หรือสไปก์โปรตีนของไวรัส ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ไวรัสใช้ในการจับเกาะกับเซลล์ในร่างกายของคนเรา เพื่อยึดเอามาใช้เป็นโรงงานผลิตไวรัสต่อไป
นักวิทยาศาสตร์กำลังเป็นกังวลว่า “หนามโปรตีน” ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากขนาดนั้น จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่รู้จักและไม่ยอมทำลายเชื้อร้ายตัวนี้
ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้แม้แต่คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อตัวนี้ซ้ำได้อีก
เช่นเดียวกัน นักวิชาการพบว่า มีผู้ที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ได้อีกเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ที่ยังคงมีสัดส่วนในการฉีดวัคซีนต่ำ ยังคงเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด หากสมมุติฐานที่ว่า โอไมครอน เป็นเชื้อที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุดเป็นความจริง
ข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศในภาคพื้นแอฟริกาคือต้นกำเนิดของเชื้อกลายพันธุ์นี้ เป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดี เพราะแอฟริกาทั้งทวีป มีประชากรฉีดวัคซีนไปแล้วไม่ถึง 5%
นอกจากนั้น แอฟริกายังเป็นทวีปที่มีประชากรหนาแน่น ทำให้โอกาสแพร่ระบาดเป็นไปได้ง่ายและมากขึ้นกว่าที่อื่น
อย่างไรก็ตาม ประเทศในภาคพื้นยุโรปก็สุ่มเสี่ยงและเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของโอไมครอนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ “ออสเตรีย” ที่จำเป็นต้องประกาศล็อกดาวน์อีกระลอกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพราะการแพร่ระบาดพุ่งขึ้นสูง ก็มีสัดส่วนของประชากรที่ฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำอย่างน่าแปลกใจ
ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” ซึ่งยังคงยึดถือนโยบาย “ซีโร-โควิด” อย่างแนบแน่น ก็ถูกคาดหมายว่า จะยังคงใช้วิธีการห้ามเดินทางสำหรับคนของตนเองและชาวต่างชาติทั้งหมด เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโอไมครอนอีกครั้ง
ข้อแตกต่างระหว่างการ “ปิดประเทศ” ห้ามการเดินทางที่เกิดขึ้นครั้งใหม่นี้ กับที่เคยเกิดขึ้นในราวเดือน ก.พ.ปี 2020 ที่ผ่านมาก็คือ ในครั้งนั้น การตอบสนองของแต่ละประเทศเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้รัฐบาลมีเวลาเตรียมการเพื่อรับมือ ตั้งแต่เพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ และสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในสภาพบอบช้ำอย่างหนักจากสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แบกรับหนี้สินจากการรับมือกับการแพร่ระบาดอยู่มหาศาล
หากโอไมครอนระบาดหนักซ้ำเติม ก็ไม่ต่างอะไรจากการเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตนั่นเอง