สายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงอีกครั้ง หลังจากพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ที่ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง ซึ่งทำให้การเดินทางข้ามประเทศที่กำลังฟื้นตัวต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง
ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า สายการบินทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดกับมาตรการจำกัดการเดินทางอีกครั้ง หลังการระบาดของโอไมครอนที่คาดว่าสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วและลดประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งพบครั้งแรกทางตอนใต้ของแอฟริกา และเริ่มแพร่กระจายในหลายประเทศแล้ว
“โยฮัน ลันด์เกรน” ซีอีโอสายการบินอีซี่เจ็ตของอังกฤษ ระบุว่า สายการบินทั่วโลกกำลังรอความชัดเจนว่า ไวรัสกลายพันธุ์นี้สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วเพียงใด และวัคซีนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์นี้ มากน้อยแค่ไหน
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความไม่แน่นอน ไม่น่า แปลกใจที่เราต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้เราตระหนักดีว่าการฟื้นตัวอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเช่นนี้” ลันด์เกรนกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) รายงานการค้นพบโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยจัดอยู่ในสถานการณ์ที่ “น่ากังวล” เมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศทั่วโลกประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางอีกครั้ง โดยเฉพาะจากประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา และบางประเทศอย่างอิสราเอลและญี่ปุ่นถึงขั้นประกาศปิดประเทศ
สถานการณ์ดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อสายการบินทั่วโลก ทำให้มูลค่าหุ้นของสายการบินนานาชาติดิ่งลงทันที เช่น “ไอเอจี” (IAG) บริษัทแม่ของบริติชแอร์เวย์ส ร่วงลง 14% ขณะที่อีซี่เจ็ตและ “ลุฟท์ฮันซ่า” ก็ร่วงกว่า 10% ลดลงมากสุดนับตั้งแต่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน
รวมถึงยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส, อเมริกันแอร์ไลน์ส และเดลต้าแอร์ไลน์ส ก็เผชิญกับการเทขายหุ้นของนักลงทุน
“แอนดรูว์ ลอบเบนเบิร์ก” นักวิเคราะห์ด้านการบินของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุว่า การปิดกั้นพรมแดนจะกลับมาอีกครั้ง หากวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการต้านโอไมครอน
“ปริมาณการเดินทางจะลดลง และการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการบินจะช้าออกไปอีก จนกว่าการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะประสบความสำเร็จ”
ขณะที่บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกต่างเร่งทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ต่อไวรัสกลายพันธุ์
“โจ วอลตัน” นักวิเคราะห์ของเครดิตสวิส ระบุว่า วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เป็นวัคซีนที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ง่ายกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ เนื่องจากใช้วิธีการส่งผ่านรหัสพันธุกรรม จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส
สถานการณ์ของโอไมครอนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสายการบินเท่านั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น เชนโรงแรมยักษ์ใหญ่ “ฮิลตัน” ธุรกิจเรือสำราญ “คาร์นิวัล” รวมถึงผู้ผลิตเครื่องบิน “แอร์บัส” ที่ต่างก็เผชิญกับมูลค่าหุ้นที่ดิ่งลงทันที
“มาร์ก ซิมป์สัน” นักวิเคราะห์ธุรกิจการบิน บริษัทหลักทรัพย์ กู๊ดบอดี้ สต๊อกโบรกเกอร์ส ระบุว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการย้ำเตือนถึงความเปราะบางของอุตสาหกรรมนี้ ที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด