โอลาฟ โชลซ์ รับไม้ต่อ แมร์เคิล นั่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่

โอลาฟ โชลซ์
Photo by Odd ANDERSEN / AFP

สิ้นสุด 16 ปี เยอรมนียุคแมร์เคิล “โอลาฟ โชลซ์” สาบานตนรับตำแหน่งนายกฯอย่างเป็นทางการ

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายโอลาฟ โชลซ์ หัวหน้าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีดี) สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundeskanzler) ต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิล อย่างเป็นทางการแล้ว หลังสมาชิกรัฐสภาเยอรมนี (Bundestag) ลงมติโหวตเลือกนายโชลซ์ วัย 63 ปี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังซึ่งเคยร่วมรัฐบาลแมร์เคิล

รัฐบาลใหม่ของโชลซ์ได้รับฉายาจากสื่อว่าเป็น “รัฐบาลสัญญาณจราจร” เนื่องจากประกอบด้วยพรรคการเมืองสามฝ่ายคือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ซึ่งมีสัญลักษณ์สีแดง, พรรคกรีน ซึ่งมีสัญลักษณ์สีเขียว และพรรคประชาธิปไตยอิสระ (เอฟดีพี) ที่มีสีเหลือง จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 26 กันยายนที่ผ่านมา

โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (ซีดีอู) และแนวร่วมอย่างพรรคสหภาพสังคมคริสเตียนบาวาเรีย (ซีเอสยู) ของนางแมร์เคิล พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งดังกล่าว นับเป็นการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับทั้งสองพรรค ที่สูญเสียคะแนนเสียงในเขตฐานเสียงหลายแห่ง

Photo by Ina Fassbender / AFP

การส่งต่ออำนาจครั้งนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดอาชีพด้านการเมืองของนางแมร์เคิล หลังจากที่เธอโลดแล่นในสนามการเมืองมาเป็นเวลา 31 ปี ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ต่อเนื่องถึง 4 สมัย

ขณะที่ “โชลซ์” นับเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคเอสพีดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายกลางซ้าย คนแรกในรอบ 16 ปีเช่นกัน โดยนายกฯจากพรรคเอสพีดีคนล่าสุดคือนายแกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2541 ถึง 2548

บีบีซีรายงานบรรยากาศภายในรัฐสภาเยอรมนีว่า หลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนเสียง นายโชลซ์ได้รับเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 395 ต่อ 306 ท่ามกลางเสียงปรบมือจากสมาชิกในรัฐสภาอย่างกึกก้อง

โดยหลังจากนี้ เขามีกำหนดการเข้าพบนายแฟรงก์-วอลเทอร์ ชไตน์เมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี ตามขั้นตอนต่อไป โดยโชลซ์มีกำหนดดำรงตำแหน่งต่อจากแมร์เคิลในเวลา 15.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ถือเป็นการสิ้นสุด 16 ปี เยอรมนีใต้เงาแมร์เคิลอย่างเป็นทางการ

ใครคือ “โอลาฟ โชสซ์”

โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) เกิดวันที่ 14 มิถุนายน 2501 เมืองออสนาบรึค แคว้นโลเวอร์แซกโซนี แต่ด้วยครอบครัวที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชีวิตของโชลซ์และน้องชายอีกสองคน จึงเติบโตที่เมืองฮัมบูร์ก เมืองท่าสำคัญทางเหนือของประเทศ

เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาในปี 2520 โชลซ์เข้าเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก กระทั่งเรียนจบ เขาเริ่มงานในฐานะทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานและการจ้างงาน

ถึงตรงนี้จึงไม่แปลกใจที่เหตุใดโชลซ์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีดี) เนื่องจากพื้นที่แคว้นทางเหนือโดยเฉพาะเมืองฮัมบูร์กนั้น ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของเอสพีดีมาอย่างยาวนาน โชลซ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดีตั้งแต่เมื่ออายุได้เพียง 17 ปี หรือตั้งแต่เมื่อปี 2518 ในฐานะแนวร่วมยุวชนของพรรค

Photo by Odd ANDERSEN / AFP

โชลซ์ในวัย 40 ปี ชนะการเลือกตั้งจากเขตฮัมบูร์กอัลโทนา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสภาเยอรนีในปี 2541 เขาดำรงแหน่งดังกล่าวถึงปี 2544 กระทั่งปีต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำรัฐสภาท้องถิ่นเมืองฮัมบูร์ก (Hamburger Rathaus) ทำงานการเมืองท้องถิ่นได้เพียงปีเดียว โชลซ์ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกรัฐสภาอีกครั้งตั้งแต่ปี 2545-2554

โดยระหว่างนี้ โชลซ์ได้เข้าร่วมรัฐบาลแมร์เคิลในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสังคม ระหว่างปี 2550-2552

ชีวิตของโชลซ์ วนไปวนมาระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ โดยหลังสิ้นสุดวาระรัฐมนตรีแรงงาน โชลซ์ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครฮัมบูร์ก ดำรงตำแหน่งนาน 7 ปี ก่อนจะกลับมาร่วมรัฐบาลแมร์เคิลอีกครั้งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการคลัง ในปี 2561 กระทั่งชนะเลือกตั้งดังกล่าว

ร่างทรงของแมร์เคิล ?

ในแง่สีสันแล้ว โอลาฟ โชลซ์ นับเป็นนักการเมืองที่แทบจะไร้สีสัน ไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับนักการเมืองเยอรมนีคนดังรายอื่น ๆ นั่นทำให้โชลซ์ได้รับฉายาว่า “โชลซ์โซมัต” (“Scholzomat”) ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ประจบประแจง รวมถึงลักษณะเหมือนหุ่นยนต์นั่น ทำให้โชลซ์ซึ่งเป็นนักการเมืองสายเทคโนแครตผู้นี้ได้รับความไว้วางใจร่วมคณะรัฐมนตรีของนางแมร์เคิลในหลายสมัย ในฐานะผู้ประสานงานกับพรรคร่วมรวมถึงพรรคฝ่ายค้าน

REUTERS/Fabrizio Bensch

“โชลซ์” ในฐานะรองนายกรัฐมนตี และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ภายใต้รัฐบาลแมร์เคิล เขามีบทบาทอย่างมากช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการกู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติเบอร์หนึ่งของอียู ในส่วนของการออกนโยบายแจกจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูแข็งๆ ไม่ค่อยมีสีสัน โชลซ์ถูกมองว่าไม่ต่างกับร่างทรงของอังเกลา แมร์เคิล เขามักถูกจับตามองเสมือนว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยธรรมชาติต่อจากแมร์เคิล แม้จะอยู่กันคนละพรรคก็ตาม

ฟรังก์ สเตราส์ ที่ปรึกษาด้านสื่อสารทางการเมือง ซึ่งเคยร่วมงานกับพรรคเอสพีดี ให้ความเห็นว่า “16 ปี ใต้เงาของอังเกลา แมร์เคิล เธอได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อวัฒนธรรมการเมืองเยอรมนี .. โอลาฟ โชลซ์ ไม่ใช่ร่างโคลนของแมร์เคิล แต่เขากลับมีสไตล์การทำงานด้านการเมืองที่ดูคล้ายคลึงกับแมร์เคิลมาก ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้ลงคะแนนมองหาสิ่งเดียวกันจากยุคของแมร์เคิล”