Meta จะปิดเฟซบุ๊ก-ไอจี ในยุโรป จริงหรือไม่ ?

Meta ขู่ปิดเฟซบุ๊ก-ไอจี ในยุโรป โดนสวนกลับจะเสียประโยชน์เอง
FILE PHOTO: Kirill KUDRYAVTSEV / AFP

เมต้า บริษัทแม่เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม ขู่ปิดให้บริการในยุโรปหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลไปยังสหรัฐ เรื่องนี้มีสาเหตุจากอะไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท เมต้า ขู่ว่าจะถอดเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ออกจากยุโรปอีกครั้ง หากไม่สามารถถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้กลับไปยังสหรัฐอเมริกาได้ ท่ามกลางการเจรจาระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงด้านความเป็นส่วนตัว

หน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อเปลี่ยนมาใช้ข้อตกลงการถ่ายโอนข้อมูลซึ่งบริษัทหลายพันแห่งไว้ใจ แต่กลับถูกศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปตัดสินไม่ให้ใช้ เมื่อปี 2563 เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลของพลเมืองจะไม่ปลอดภัยเมื่อส่งไปยังสหรัฐอเมริกา

ในรายงานประจำปีของเมต้า ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 ก.พ.) แจ้งว่า หากไม่สามารถยอมรับข้อตกลงใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ เช่น ข้อตกลงมาตรฐานอย่างการโอนย้ายข้อมูลแบบถาวร ทางบริษัทมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถให้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม ในยุโรปได้

ทั้งนี้ เมต้า เตือนในรายงานปีที่แล้วว่า หากไม่บรรลุข้อตกลงในการถ่ายโอนข้อมูลแบบถาวร ธุรกิจบางส่วนจะไม่สามารถดำเนินการในยุโรปได้ อย่างไรก็ตาม ในสัญญาดังกล่าวไม่มีการระบุชื่อสองโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหลักไว้

โฆษกของเมต้า เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ทางอีเมล์ ระบุว่า “เราไม่มีความตั้งใจและไม่มีแผนที่จะถอนตัวออกจากยุโรป แต่ความจริงง่าย ๆ คือเมต้าและธุรกิจ องค์กร และบริการอื่น ๆ จำนวนมาก พึ่งพาการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐเพื่อดำเนินการบริการทั่วโลก”

ความเห็นล่าสุดสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ระหว่างบริษัทโซเชียลมีเดียและผู้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของข้อมูลผู้ใช้ ขณะที่หุ้นของเมต้าร่วงลง 26% เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.พ.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเฟซบุ๊กในอนาคต ซึ่งทำให้มูลค่าในตลาดหุ้นหายไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยหุ้นของเมต้าร่วงลง 4.5% ในการซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

“รูโน เลอ แมร์” รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส กล่าวที่ปารีสเมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) ว่า “ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลต้องเข้าใจว่าทวีปยุโรปจะต่อต้านและยืนยันในอำนาจอธิปไตยของตน”

วันเดียวกัน โฆษกคณะกรรมาธิการเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า การเจรจาเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลกับทางสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่พวกเขาต้องใช้เวลาเนื่องจากความซับซ้อนของประเด็นในการหารือ และความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงของชาติ

“เฉพาะข้อตกลงที่เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลสหภาพยุโรปเท่านั้น ที่จะให้ความมั่นคงและความแน่นอนทางกฎหมาย ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคาดหวังจากทั้งสองฝ่าย” โฆษกกล่าวเพิ่มเติม

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กขู่

“แม็กซ์ เชรมส์” นักเคลื่อนไหวด้านความเป็นส่วนตัว ได้ท้าทายเฟซบุ๊กผ่านศาลไอร์แลนด์มานานแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลพลเมืองสหภาพยุโรปมีความเสี่ยงในระหว่างถูกโอนไปยังสหรัฐอเมริกา

ในปี 2563 เฟซบุ๊กได้ขอให้ศาลพิจารณาคำตัดสินเบื้องต้นของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ ที่ระบุว่า บริษัทอาจต้องหยุดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากการใช้ข้อตกลงในการถ่ายโอนข้อมูลแบบถาวร แต่เมื่อปีที่แล้วศาลในไอร์แลนด์ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลกำลังเพิ่มการพิจารณามาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งอนุญาตให้บริษัทส่งข้อมูลไปมาได้ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงใหม่ ตามที่ “แพททริค แวน อีค” หุ้นส่วนและหัวหน้าฝ่ายไซเบอร์และข้อมูลที่สำนักงานกฎหมาย Cooley LLP กล่าว

แวน อีค กล่าวว่า ผมไม่แปลกใจเลยที่บริษัทต่าง ๆ นอกยุโรปกำลังทบทวนว่าควรให้บริการแก่ตลาดยุโปต่อไปหรือไม่ เนื่องจากไม่มีทางเลือกมากมายนัก

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กขู่ว่าจะถอนบริการของตน

ย้อนไปเมื่อปี 2563 บริษัทกล่าวว่ามีแผนที่จะบล็อกผู้ใช้และผู้จัดพิมพ์ในออสเตรเลียจากการแชร์ข่าว เพื่อที่จะต่อต้านกฎหมายที่เสนอให้บริษัทต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทสื่อสำหรับเนื้อหาที่เป็นบทความ

“นิค เคล็กก์” หัวหน้าฝ่ายกิจการระดับโลกของเมต้ากล่าวในงานอีเวนต์ในปี 2563 ว่า “ให้ผมพูดให้ชัดเจนที่สุด เราไม่มีความต้องการ ความปรารถนา ไม่มีแผนที่จะถอนบริการของเราออกจากยุโรป เราจะทำไปทำไม ?”

Meta ถูกฟาดกลับ

ล่าสุด มติชน รายงานว่า โฆษกของเมต้าออกมาชี้แจงว่า บริษัทยังไม่มีแผนที่จะยุติการให้บริการในยุโรป พร้อมกับเรียกร้องให้มีการจัดทำกฎเกณฑ์สากลที่ชัดเจน เพื่อปกป้องการโอนถ่ายข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติดใหม่ในระยะยาว

อย่างไรก็ดีมีผู้แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของเมต้า โดยอาเซล วอสส์ สมาชิกรัฐสภายุโรปทวีตว่า เขาเรียกร้องให้มีการหาทางเลือกอื่น ๆ ในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของอียูจากสหรัฐ เพื่อหาข้อตกลงที่สมดุลระหว่างการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับความยืดหยุ่นในการใช้ GDPR แต่เมต้าไม่สามารถแบล็กเมล์อียูให้ยกเลิกมาตรฐานในการปกป้องข้อมูลได้ และการถอนตัวออกจากอียูจะเป็นความสูญเสียของเมต้าเอง

ทั้งนี้ GDPR หรือ General Data Protection Regulation เป็นกฏหมายของยุโรปที่มีจุดประสงค์ในการดูแลข้อมูลส่วนตัวของบุคคลที่ถูกบริษัทหรือภาคธุรกิจเก็บรวบรวมไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน