ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น หลังรัสเซียบุกยูเครน

ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น หลังรัสเซียบุกยูเครน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีการเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างจริงจัง หลังจากรัสเซียใช้ปฏิบัติการโจมตียูเครนทั้งทางบกและทางอากาศ เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ความกลัวที่เลวร้ายที่สุดของเรากลายเป็นความจริงขึ้นมา หลังความตึงเครียดที่ทวีขึ้นหลายสัปดาห์ การรุกรานของรัสเซียมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่อชีวิตมนุษย์และสิทธิมนุษยชนได้เริ่มขึ้นแล้ว

“ขณะที่มีการยิงระเบิดและจรวดใส่ฐานทัพของยูเครน และมีรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้อาวุธสงครามอย่างไม่เลือกเป้าหมายของกองทัพรัสเซีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอย้ำอีกครั้งถึงข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องประกันการคุ้มครองชีวิตของพลเรือน บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาต้องได้รับความคุ้มครอง

การโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย และการใช้อาวุธสงครามต้องห้าม เช่น ระเบิดลูกปราย จะต้องไม่เกิดขึ้น เรายังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอนุญาตและอำนวยความสะดวกให้องค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าช่วยเหลือพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามด้วย”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเปิดเผยการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่กระทำโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธระหว่างทั้งสองประเทศที่ขยายตัวขึ้น ได้ปะทุเป็นสงครามตอนเช้ามืดของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยกองทัพรัสเซียได้ยิงถล่มด้วยระเบิด จรวด และขีปนาวุธใส่ฐานทัพของยูเครนทั้งทางบกและทางอากาศ พร้อมกับเคลื่อนแนวรถถังเข้าสู่ยูเครนตลอดแนวพรมแดนทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อเช้ามืดของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ รัสเซียปฏิบัติการโจมตีเข้าไปในยูเครน โดยมีรายงานว่าทหารได้เคลื่อนพลข้ามพรมแดนเข้าสู่ด้านเหนือและด้านใต้ มีเสียงระเบิดขึ้นในหลายเมืองทั่วยูเครน รวมทั้งที่กรุงเคียฟ เมืองหลวง โดยมีอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่เมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน

มีภาพวิดีโอแสดงให้เห็นส่วนหางของจรวดที่ยิงจากเครื่องยิงจรวดหลายลำของสเมิร์ช ซึ่งตั้งอยู่บนทางเท้า การโจมตีอย่างจงใจใส่พลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือน และการโจมตีที่ไม่เลือกเป้าหมายอันเป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งสัญญาณเตือนหากมีความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธระหว่างรัสเซียและยูเครน ว่าจะมีความเสี่ยงที่ร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งภัยคุกคามต่อชีวิตพลเรือน การดำเนินชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน หรือปัญหาการขาดแคลนอาหารเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการพลัดถิ่นฐาน ทางแอมเนสตี้ได้บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในระหว่างปี 2557-2558 ในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งมีการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ