
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติประณามรัสเซียบุกยูเครน ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น รวมถึงจากประเทศไทย
วันที่ 3 มีนาคม 2565 เอ็นบีซีนิวส์รายงานว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ลงมติประณามรัสเซีย กรณีรุกรานยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียยุติการสู้รบและถอนทหารออกจากยูเครน
- สุรนันทน์ เวชชาชีวะ มอบตัวกับทักษิณ จับตาต่อสายเข้าเพื่อไทย
- ด่วน พรรคชาติไทยพัฒนา เปิดตัว สันติและพวก แพแตกจากพรรคสมคิด
- สิ้นสุดพักหนี้รถยึด 1.8 แสนคัน ผ่อนต่อไม่ไหว-ล้นลานประมูล
ผลการลงมติคัดค้านการรุกรานยูเครนของยูเอ็นจีเอ ปรากฎว่า มีประเทศสมาชิก 141 ชาติที่เห็นชอบ มีเพียง 5 ชาติที่คัดค้าน ส่วนอีก 35 ชาติงดออกเสียง
“เราเชื่อว่านี่เป็นการลงคะแนนเสียงที่มีความชัดเจน” ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น กล่าวก่อนการลงคะแนน พร้อมระบุว่า “โปรดโหวตเห็นด้วย หากคุณเชื่อว่าประเทศสมาชิกยูเอ็น ซึ่งรวมถึงประเทศของคุณ มีสิทธิในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
“โปรดโหวตเห็นด้วย หากคุณเชื่อว่ารัสเซียสมควรถูกลงโทษจากการกระทำของตัวเอง” เธอกล่าวพร้อมกับอ้างถึง “วลาดีมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย พร้อมกับกล่าวด้วยว่า “โปรดโหวตเห็นด้วย หากคุณเชื่อในการรักษากฎบัตรสหประชาชาติ และทุกสิ่งที่สถาบันแห่งนี้ยึดมั่น”
โธมัส-กรีนฟิลด์ กล่าวหาว่า กองกำลังรัสเซียกำลังเคลื่อนย้ายอาวุธร้ายแรงไปยังยูเครน โดยอ้างถึงวิดีโอที่เธอได้รับชม แต่เธอไม่ได้นำวิดีโอดังกล่าวมาแสดงในที่ประชุม
“นั่นรวมถึงระเบิดลูกปลาย และระเบิดสุญญากาศ ซึ่งถูกห้ามใช้ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา” เธอกล่าว
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หลังผลการลงมติถูกแสดงที่หน้าจอ ผู้ที่อยู่ในห้องประชุมต่างพากันลุกขึ้นปรบมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในการประชุม
ผลการลงมติครั้งนี้ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่ก็มีน้ำหนักในทางการเมืองระดับโลกอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อสงสัยว่ามันจะสามารถเปลี่ยนใจรัสเซียได้หรือไม่
มติดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากดินแดนยูเครนในขอบเขตที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทันที โดยไม่มีเงื่อนไข”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงคะแนนเห็นชอบ มติคัดค้านการรุกรานยูเครนของยูเอ็นจีเอ เช่นเดียวกับอีก 140 ประเทศ
ส่วน 5 ประเทศที่ลงคะแนนคัดค้านการประณามรัสเซีย ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส เอริเทีย เกาหลีเหนือ และ ซีเรีย ขณะที่จีนกับปากีสถานอยู่ในกลุ่ม 35 ประเทศ ที่งดออกเสียง