ย้อนรอยภัยพิบัติ “เชอร์โนบิล” เกิดอะไรขึ้นเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด

เชอร์โนบิล
ภาพจาก pixabay

ย้อนรอยภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” ระเบิด หลังรัสเซียโจมตี “ซาโปรีเจีย” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่สุดในยุโรป หากระเบิดจะรุนแรงกว่ารุ่นพี่ในอดีตถึง 10 เท่า

วันที่ 4 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ซาโปรีเจีย” โรงไฟฟ้าที่ใหญ่สุดในยุโรปถูกกองทัพรัสเซียโจมตีใส่จากทุกทิศทางจนเกิดเหตุไฟไหม้ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนได้เรียกร้องให้รัสเซียหยุดโจมตีสถานที่ดังกล่าวทันที เพราะหากเกิดการระเบิดจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์ “เชอร์โนบิล” ถึง 10 เท่า

“ประชาชาติธุรกิจ” จะพาผู้อ่านย้อนรอยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลก เพื่อฉายให้เห็นภาพของความเสียหายและผลกระทบด้านรังสีที่ตามมาหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดการระเบิด

ภัยพิบัติเชอร์โนบิล

ภัยพิบัติเชอร์โนบิล เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 2529 เมื่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 เกิดระเบิดขึ้น ณ สถานีพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในสหภาพโซเวียต นับเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของการผลิตพลังงานนิวเคลียร์

เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองปริเปียต แคว้นเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์สี่เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์ ตามรายงานของบริทแทนนิกา

เชอร์โนบิล ภาพจาก REUTERS/Gleb Garanich

การระเบิดของหมายเลข 4 และการยับยั้ง

การระเบิดเกิดขึ้นเมื่อวิศวกรของแกนปฏิกรณ์หมายเลข 4 ได้ทำการทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์

แต่การทดสอบระบบได้ล่าช้ากว่ากำหนดจนต้องทำการทดสอบโดยวิศวกรกะกลางคืน แต่กลับเกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลันและระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้น

ผลจากการระเบิดทำให้ขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศ กระแสลมพัดไกลออกไปจนปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรกว่า 300,000 คนออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน

ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2529 ประชาชนชาวปริเปียตกว่า 30,000 คนเริ่มอพยพ รัฐบาลพยายามปกปิดข่าวการระเบิด แต่ในวันต่อมา สถานีเฝ้าระวังของสวีเดนรายงานว่าระดับกัมมันตภาพรังสีในอากาศสูงกว่าผิดปกติ และต้องการคำอธิบาย

ทางรัฐบาลโซเวียตออกมายอมรับว่าเกิดอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล ส่งผลให้เกิดข้อครหาจากนานาชาติตามมาเกี่ยวกับอันตรายของกัมมันตภาพรังสี

เศษกัมมันตภาพรังสีถูกฝังกลบไว้ที่ไซต์ชั่วคราวประมาณ 800 แห่ง และในปีเดียวกันนั้น แกนเครื่องปฏิกรณ์กัมมันตภาพรังสีถูกปิดตายในโลงคอนกรีตและเหล็กกล้า

ภาพจาก pexels

ความเสียหาย

บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 2 รายในการระเบิดครั้งแรก ขณะที่แหล่งอื่น ๆ รายงานว่าตัวเลขดังกล่าวเกือบแตะ 50 คน ผู้คนจำนวนมากป่วยจากการอาบรังสีร้ายแรง ซึ่งบางคนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สารกัมมันตภาพรังสีจำนวน 50 ถึง 185 ล้านคิว หลุดออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ในญี่ปุ่นหลายเท่า

อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นหนึ่งในสองครั้งที่ได้รับการจัดระดับความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ซึ่งเกิดอีกครั้งหนึ่งในภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิในปี 2554 อ้างอิงจากวิกิพีเดีย

นอกจากนี้กัมมันตภาพรังสียังพัดตามลมเหนือไปยังเบลารุส รัสเซีย และยูเครน และในไม่ช้าก็ไปถึงตะวันตกไกลถึงฝรั่งเศสและอิตาลี

พื้นที่ป่าและพื้นที่เพาะปลูกหลายล้านเอเคอร์ปนเปื้อน และแม้ผู้คนหลายพันคนจะอพยพออกไป แต่ยังมีอีกหลายแสนคนยังคงอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อน นอกจากนี้ ในปีต่อ ๆ มา ปศุสัตว์จำนวนมากเกิดมาพิการ และในหมู่มนุษย์ก็เกิดโรคที่คาดว่าเป็นเพราะการอาบรังสี รวมถึงการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหลายพันรายอีกต่อไปเป็นเวลานาน

ภัยพิบัติเชอร์โนบิลทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขั้นตอนที่ไม่ปลอดภัยและข้อบกพร่องในการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ของสหภาพโซเวียต และเกิดการต่อต้านการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

เชอร์โนบิลหมายเลข 2 ถูกปิดตัวลงหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี 2534 ส่วนหมายเลข 1 ยังคงเปิดใช้งานอยู่จนถึงปี 2539 ด้านหมายเลข 3 เปิดใช้งานจนถึงปี 2543 เป็นเวลาที่เชอร์โนบิลถูกปิดอย่างเป็นทางการ

ภาพจาก pexels

การสร้างเขตยกเว้นเชอร์โนบิล

หลังภัยพิบัติ สหภาพโซเวียตสร้างเขตยกเว้นรูปวงกลมขึ้น มีรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตรโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เชอร์โนบิล

เขตยกเว้นครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,634 ตารางกิโลเมตรรอบโรงงาน และขยายเป็น 4,143 ตารางกิโลเมตรในภายหลัง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการแผ่รังสีรุนแรงนอกเขตเริ่มแรก

แม้ว่าจะไม่มีใครอาศัยอยู่ในเขตยกเว้น แต่นักวิทยาศาสตร์ คนเก็บขยะ และคนอื่น ๆ อาจยื่นขออนุญาตที่อนุญาตให้พวกเขาเข้ามาได้ภายในระยะเวลาที่จำกัด

และจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 การควบคุมไซต์ดังกล่าวได้ส่งผ่านไปยังยูเครน

ในปี 2554 รัฐบาลยูเครนได้เปิดพื้นที่บางส่วนของเขตยกเว้นเพื่อจัดกลุ่มทัวร์ รวมถึงเยี่ยมชมเชอร์โนบิลและเมืองปริเปียตที่ถูกทิ้งร้าง และกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายดาร์ก

ระหว่างการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่กำลังเกิดขึ้น กองกำลังรัสเซียที่โจมตีจากเบลารุสได้เข้ายึดเชอร์โนบิลได้หลังจากการสู้รบช่วงสั้น ๆ

ทั้งนี้การต่อสู้ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลกทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายต่อโครงสร้างกักกันและความเป็นไปได้ของการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในวงกว้าง

ภาพจาก pixabay

ผลกระทบดี-ร้าย ในระยะยาว

เนชั่นแนลจีโอกราฟิก รายงานว่า ผลกระทบเกิดขึ้นกับป่าไม้และสัตว์ป่าโดยรอบ และยังคงเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยเชิงรุก ภายหลังการระเบิด พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตรกลายเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า “ป่าแดง” เนื่องจากต้นไม้จำนวนมากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงและตายลงหลังจากดูดซับรังสีในระดับสูง

ทุกวันนี้แม้ว่าต้นไม้จำนวนมากจะเติบโตใหม่ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานของการเกิดต้อกระจกและโรคผิวเผือกมากขึ้น รวมถึงจำนวนแบคทีเรียมีประโยชน์ที่น้อยลงในหมู่สัตว์ป่าบางชนิดในพื้นที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่ถึงอย่างนั้น เนื่องจากเป็นเขตหวงห้ามมนุษย์โดยรอบโรงไฟฟ้า ทำให้จำนวนสัตว์ป่าบางชนิดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่แมวป่าไปจนถึงกวางเอลก์ ในขณะที่ปี 2558 นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีหมาป่าในเขตยกเว้นมากกว่าถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับเขตสงวนที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากไม่มีมนุษย์อยู่

ส่วนผลกระทบในด้านอื่น ๆ อย่างเศรษฐกิจหรือการเมือง ภัยพิบัติเชอร์โนบิลเร่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและจุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านนิวเคลียร์ทั่วโลก การระเบิดครั้งนี้คาดว่าสร้างความเสียหายประมาณ 235,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันเบลารุสมีพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีประมาณ 23% สูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 1 ใน 5 และในปี 2534 เบลารุสใช้งบประมาณ 22% ของทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการจัดการเชอร์โนบิล

ทุกวันนี้ เชอร์โนบิลกวักมือเรียกนักท่องเที่ยวที่รู้สึกทึ่งกับประวัติศาสตร์และหลงใหลในอันตรายของมัน แม้ว่าเชอร์โนบิลจะเป็นสัญลักษณ์ของความหายนะที่อาจเกิดขึ้นจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่รัสเซียก็ไม่เคยก้าวไปไกลกว่ามรดกหรือเทคโนโลยีของรัสเซียเลย

ทั้งนี้ ณ ปี 2562 ยังคงมีเครื่องปฏิกรณ์ RBMK ที่ทำงานอยู่ถึง 11 เครื่องในรัสเซีย

เชอร์โนบิล ปี 2539 ภาพจาก Valeriy SOLOVYEV / AFP