‘ไทย-ฝรั่งเศส’ ลงนามโรดแมป ผนึกความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ประวิตร โรจนพฤกษ์

ไม่นานก่อนหน้าที่ศึกรัสเซียบุกยูเครนจะเปิดฉาก มีความเคลื่อนไหวด้านการต่างประเทศที่น่าจับตายิ่งของฝรั่งเศส ในการจัดประชุมรัฐมนตรีเกี่ยวกับความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก จากกว่า 40 ประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ยกระดับบทบาทของประเทศฝรั่งเศส ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 26 ประเทศ ในการผลักดันการสร้างกลไกพหุภาคี

ด้านความมั่นคงและการปกป้องทางการทหาร เศรษฐกิจ สร้างหลักความร่วมมือแบบพหุภาคี และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน เพื่อปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยไม่ปล่อยให้ประเทศอภิมหาอำนาจกำหนดเกมตามแต่ที่ประสงค์แต่ฝ่ายเดียว

เครือมติชนได้รับโอกาสจากกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศสให้ผู้สื่อข่าวร่วมเดินทางไปทำข่าวการประชุมสำคัญนี้ พร้อมกับพิธีลงนามในโรดแมป ปี 2565-2567 สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย

ยุทธศาสตร์เติมเต็มซึ่งกันและกัน

นายตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ด้านความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย ว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. มีการลงนามในโรดแมป

สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสในการยกระดับความสัมพันธ์กับไทย ภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศสที่ได้รับความเห็นชอบในปี 2561 และภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปเพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกที่เผยแพร่ในปี 2564

ยุทธศาสตร์ทั้งสองฉบับเติมเต็มซึ่งกันและกัน และใช้เพื่อกำหนดกรอบการทำงานสำหรับการหารือและความร่วมมือทวิภาคีระหว่างฝรั่งเศสกับไทยในสามประเด็น ได้แก่ ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ความเชื่อมโยง

และประเด็นระดับโลกต่าง ๆ เช่น การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องดูแลมหาสมุทร และความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ทั้งสองประเทศต่างต้องการสนับสนุนคุณค่าและหลักการเดียวกันที่มีร่วมกัน เช่น ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย พหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง แนวทางการดำเนินงานระดับภูมิภาคที่สมดุลและส่งเสริมการมีส่วนร่วม รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไทยและฝรั่งเศสยังได้ตกลงที่จะประสานงานและปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกันในประเด็นระดับโลก เช่น การสาธารณสุขและการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษา ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การรวมพลังความมานะพยายามของทั้งสองประเทศในประเด็นที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดย่อมเป็นแนวทางการดำเนินงานแบบทุกฝ่ายได้ประโยชน์ สำหรับทั้งฝรั่งเศสและไทย

กระทบสัมพันธ์ไทย-จีนหรือไม่

เมื่อถามว่า การที่ไทยเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะมีผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนหรือไม่ เอกอัครราชทูตมาตูกล่าวตอบว่า ฝรั่งเศสเองก็ไม่มีความขัดแย้งโดยตรงกับจีนเช่นเดียวกัน

แม้ว่าเราอาจมีทัศนคติไม่ตรงกันกับจีนในหลายเรื่องแต่จีนและฝรั่งเศสก็เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับโลกกัน นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเราก็ยึดหลักการส่งเสริมการมีส่วนร่วม มิใช่แนวทางแบบปะทะกันซึ่งหน้า ฝรั่งเศสพร้อมและมีข้อสัญญาจะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในภูมิภาค

นั่นหมายความว่าเราต้องการปรับเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือตามขอบเขตของนโยบายในส่วนที่หุ้นส่วนมีความเห็นร่วมกันโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ คุณค่า ตลอดจนผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ในแง่นี้ ฝรั่งเศสและไทยมีความปรารถนาเดียวกันและทั้งสองประเทศต่างยึดมั่นในหลักการอำนาจอธิปไตย เอกราช พหุภาคีนิยม และระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย

ทั้งสองฝ่ายมองว่าการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจความท้าทายด้านความมั่นคงข้ามชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (โดยเฉพาะการก่อการร้ายและความท้าทายทางทะเล) ล้วนเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเงื่อนไขที่จะส่งผลดีแก่การเกิดขึ้นของสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ไทยและฝรั่งเศสจึงมุ่งมั่นขยายกรอบความร่วมมือเพื่อต่อกรกับภัยคุกคามที่มาในหลายรูปแบบ ตลอดจนยกระดับความร่วมมือในประเด็นที่เรามีความกังวลร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในทั้งสองประเทศและในภูมิภาคที่ประเทศทั้งสองตั้งอยู่

ขยาย ศก.ดิจิทัล-ศก.สีเขียว

เอกอัครราชทูตอธิบายว่า คนไทยทั่วไปได้รับผลประโยชน์มากมายจากจุดเชื่อมต่าง ๆ ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก กล่าวคือ สร้างความเชื่อมโยงคุณภาพสูงระหว่างกัน ยกระดับความร่วมมือในด้านการวิจัย นวัตกรรม

และการทำให้เป็นดิจิทัล ผลักดันการริเริ่มความร่วมมือเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้ของข้อตกลงปารีสและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำไปสู่มาตรฐานและเป้าหมายระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน (รวมถึงน้ำ) และการก้าวไปสู่เศรษฐกิจสะอาด หมุนเวียน และไม่กระทบต่อสภาพอากาศ

ดังนั้น จะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขอบข่ายเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีฟ้า เมืองสร้างสรรค์และอัจฉริยะ การเคลื่อนที่ในเมือง

ความปลอดภัยบนท้องถนน การบิน การรถไฟ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรม สาธารณสุขและความอยู่ดีมีสุข อาหารสำหรับอนาคตและเศรษฐกิจผู้สูงวัย และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยและฝรั่งเศสจะยกระดับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือในการอบรมด้านอาชีพเราจะเปิดตัวปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศสในปี 2023 โดยมุ่งเน้นด้านธุรกิจและมีเป้าหมายสำคัญเป็นคนรุ่นใหม่

คำถามอัพเดตตบท้าย คือยุทธศาสตร์นี้จะได้รับผลกระทบจากศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเดือนเมษายนนี้หรือไม่

ทูตฝรั่งเศสกล่าวว่า ฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากเรามีดินแดนทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เรามีส่วนได้ส่วนเสียมากมายในภูมิภาคนี้


ดังนั้น เรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีส่วนร่วมทั้งในด้านการพัฒนาและเสถียรภาพ สิ่งนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง