เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นสังคมแข่งขันกันสูงมาก จนชาวเกาหลีใต้แบกความเครียด ทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย ปัญหาที่ตามมาคือ นอนไม่หลับ เป็นอัตราที่สูงอันดับโลก
วันที่ 6 เมษายน 2565 บีบีซี รายงานถึงสาเหตุที่เกาหลีใต้ติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีผู้ประสบปัญหาการนอนมากที่สุดในโลก
จิ–อึน พนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัย 29 ปี นอนน้อยเพราะทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ ตามปกติ เธอทำงานตั้งแต่ 7.00-22.00 น. แต่บางวันที่งานยุ่ง เคยทำงานจนถึงตี 3 ของเช้าอีกวันและเจ้านายมักโทรศัพท์มากลางดึกเพื่อขอให้ทำงานส่งทันที
พญ.จี–ฮยอน ลี จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน คลินิกดรีม สลีป ย่านกังนัม กรุงโซล กล่าวว่าบ่อยครั้งที่เห็นคนไข้กินยานอนหลับ 20 เม็ดต่อคืน
ปกติ การนอนหลับต้องใช้เวลา แต่ชาวเกาหลีต้องการหลับทันที จึงกินยานอนหลับ การติดยานอนหลับจึงกลายเป็นโรคระบาดระดับประเทศไปแล้ว
ติดยานอนหลับนับแสนคน
แม้ไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าอาจมีชาวเกาหลีที่ติดยานอนหลับประมาณ 100,000 คน
เมื่อนอนไม่หลับก็มักจะกินยานอนหลับ แล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเข้าไปอีกซึ่งเป็นอันตราย คนที่ละเมอ เดินไปที่ตู้เย็นและหยิบโน่นนี่กินโดยไร้สติสัมปชัญญะ กินแม้กระทั่งอาหารที่ไม่ได้ทำให้สุก และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยนอนละเมอประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์กลางกรุงโซล
พญ.ลีเคยเห็นผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากสิ่งที่เรียกว่า hypo-arousal ผู้ป่วยบางคนกล่าวว่านอนเพียงคืนละ 2-3 ชั่วโมงมาหลายสิบปีแล้ว เห็นแล้วน่าเศร้า พวกเขาร้องไห้ แต่ยังมีความหวังหลงเหลืออยู่เพียงอย่างเดียว คือ พึ่งคลินิกดรีม สลีป
เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีคนอดนอนมากที่สุดในโลกส่งผลให้มีอัตราการปลิดชีวิตตัวเองมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังมีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดและคนจำนวนมากใช้ยากล่อมประสาท
โหมงานหนัก เครียด นอนน้อย
เกาหลีใต้เปลี่ยนโฉมหน้าจากประเทศที่ยากจนที่สุดเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดในโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และยังแผ่ซอฟต์ พาวเวอร์ ส่งอิทธิพลเค–ป๊อป หรือวัฒนธรรมป็อปเกาหลีไปทั่วโลก
ประเทศที่มีวิถีคล้ายกันอย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วได้ แต่เกาหลีใต้ไม่ได้ร่ำรวยทรัพยากร กลุ่มชาตินิยมจึงผลักดันให้ทรัพยากรมนุษย์ให้ทำงานหนักขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผลที่เกิดตามมา คือ ทำงานหนัก แบกความเครียดและนอนน้อย
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเพื่อบริการคนนอนไม่หลับเติบโตขึ้น ประเมินว่าอาจสร้างรายได้ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 82,500 ล้านบาทเมื่อปี 2562
อุตสาหกรรมช่วยการนอนเติบโต
ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งในกรุงโซลจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อช่วยการนอนหลับ ตั้งแต่ผ้าปูที่นอนชวนฝันไปจนถึงหมอนชนิดดีที่สุด ขณะที่รานขายาวางจำหน่ายยานอนหลับทำจากสมุนไพรและยาบำรุง ไปจนถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยคนนอนไม่หลับ
แดเนียล ทิวดอร์ เริ่มปล่อยแอปทำสมาธิ ชื่อ Kokkiri เพื่อช่วยเยาวชนคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีคลายเครียด
แม้ประวัติศาสตร์เกาหลีเป็นเมืองพุทธ แต่หนุ่มสาวกลับคิดว่าการทำสมาธิเป็นกิจกรรมของคนแก่ ไม่ใช่ชาวออฟฟิศในกรุงโซลที่จะทำ แดเนียลจึงต้องปรับทัศนติการทำสมาธิตามแนวคิดตะวันตกเพื่อดึงดูดใจว่าการทำสมาธิน่าสนใจ
สถานธรรมบำบัดคนนอนน้อย
ฮเยรัง ซูนิม แม่ชีชาวพุทธ ผู้ดูแลสถาน Temple-Stay ตั้งอยู่ชานกรุงโซล เปิดวัดสำหรับผู้นอนน้อยให้มาฝึกทำสมาธิและซึมซับคำสอนวิถีพุทธ
ในอดีต ช่วงเวลาสั้นๆ จัดไว้สำหรับคนวัยเกษียณที่ต้องการฟังธรรมะและสวดมนต์ แต่ปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมมีแนวโน้มว่าจะเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวและวัยทำงาน แต่วัดพุทธเหล่านี้ถูกติฉินว่าหากำไรจากการบำบัด
แม่ชีกล่าวว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติ คนหนุ่มสาวไม่ค่อยเข้าวัดและแสวงหาคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่คนเหล่านี้ได้ประโยชน์มากมายจากการมาอยู่วัด
เปลี่ยนแปลงฐานราก
ลี ฮเย–ริ ผู้เข้ารับการบำบัดแนวพุทธ หลังจากความเครียดจากที่ทำงานถาโถม กล่าวว่าเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับความเครียดของตัวเองว่าทุกสิ่งเริ่มที่ตัวเราเอง ปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง แต่การกำหนดกรอบการแก้ปัญหาจากความเครียดและการอดนอนแต่ละระดับของแต่ละคนอาจเป็นปัญหา
คนที่เชื่อว่าปัญหาเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่สมเหตุสมผลและแรงกดดันทางสังคมมักจะวิจารณ์แนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละคนว่าเหมือนกับการโทษผู้เสียหาย เพราะเห็นว่าการทำสมาธิหรือการผ่อนคลายเป็นปูนที่ฉาบไว้และชี้ว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงจะต้องเปลี่ยนแปลงฐานรากของสังคมเท่านั้น
ในที่สุด จิ–อึนทนกับการอดนอนและความเครียดไม่ไหวจนลาออกจากงาน ทุกวันนี้ เธอเป็นฟรีแลนซ์ มีชั่วโมงทำงานที่เหมาะสมและการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทำงานจากบ้านได้ และยังพบคุณหมอที่คลินิกดรีม สลีปเพื่อแก้ปัญหานอนไม่หลับ
พร้อมทั้งสรุปว่า “การทำงานหนักเพื่อสร้างประเทศอย่างนั้นหรือ เราควรพักผ่อนได้แล้ว”