ปลดนายกฯปากีสถาน โจทย์เศรษฐกิจ ‘ลูกผีลูกคน’

ปากีสถาน นายกรัฐมนตรี

สถานการณ์การเมืองในปากีสถาน เข้าสู่ภาวะสุญญากาศ อีกทั้งยัง “ลูกผีลูกคน” จากการที่ “อิมราน ข่าน” นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ถูกขับจากตำแหน่งในการลงคะแนนไม่ไว้วางใจของรัฐสภา ช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2565 ด้วยคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ 174 ต่อทั้งหมด 342 เสียง

ส่งผลให้ข่านหลุดจากเก้าอี้นายกฯรัฐบาลปากีฯ หลังดำรงตำแหน่งได้ 3 ปี 7 เดือน ทั้งยังเป็นผู้นำรัฐบาลปากีสถานคนแรกที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความพ่ายแพ้การลงมติไม่ไว้วางใจ

การลงมติถอดถอนรอบนี้นับเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ของสภาปากีสถาน ที่จะลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯข่าน

โดยเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่สภาเตรียมลงมติไม่ไว้วางใจครั้งแรก “อิมราน ข่าน” ได้ชิงประกาศยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ ก่อนหน้าการลงคะแนนเสียง ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงการกระทำอันละเมิดรัฐธรรมนูญ

จนเรื่องต้องไปถึงศาลสูงสุดให้มีการเปิดไต่สวนฉุกเฉิน กระทั่งศาลสูงสุดปากีสถานลงมติว่า การกระทำของอิมราน ข่าน ที่ชิงยุบสภาในระหว่างการเตรียมลงมติไม่ไว้วางใจนั้น ถือเป็นโฆฆะ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จนล่าสุด สภาปากีฯสามารถลงมติขับนายข่านพ้นนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด

อิมราน ข่าน ชุมนุม
ผู้สนับสนุนพรรค Tehreek-e-Insaf ของปากีสถาน (PTI) ออกมาชุมนุม Photo by Farooq NAEEM / AFP

จับตา เชห์บาซ ชารีฟ นั่งเก้าอี้นายกฯ

หลังถูกลงมติไม่ไว้วางใจ นายข่านอ้างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังทฤษฎีสมคบคิดในการล้มล้างรัฐบาลของเขา แต่ข่านก็ไม่ได้แสดงหลักฐานใดอย่างชัดเจนเพื่อประกอบคำกล่าวอ้าง ทั้งประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากพรรคฝ่ายตรงข้ามที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สนับสนุนนายข่านได้รวมตัวประท้วงบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงอิสลามาบัด แสดงจุดยืนคัดค้านผลการลงมติ เช่นเดียวกับประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายค้าน ต่างออกมาโห่ร้องแสดงความยินดีที่นายข่านพ้นจากนายกฯ

หลายฝ่ายประเมินว่า นายเชห์บาซ ชารีฟ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนปัจจุบันที่มาจากตระกูลชารีฟ วัย 70 ปี ซึ่งเป็นตระกูลผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองปากีฯมายาวนาน มีโอกาสจะได้รับเลือกเป็นผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ โดยรัฐสภาเตรียมหารือวาระการเลือกนายกฯใหม่ภายในสัปดาห์หน้า

แม้จะดูเป็นเรื่องภายในของปากีสถาน ทว่าประเทศที่มีประชากรกว่า 220 ล้านคน ซึ่งมีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถานทางตะวันตก จีนทางตะวันออกเฉียงเหนือ และอินเดียทางตะวันออก ทำให้ประเทศแห่งนี้มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ทั้งการเมืองภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจในภูมิภาค

นับตั้งแต่ข่านก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2561 ข่านมีท่าทีต่อต้านอเมริกามากขึ้น ทั้งยังมีท่าทีเอนเอียงไปทางรัสเซียและจีนยิ่งกว่าเดิม

สิ่งสะท้อนล่าสุดคือการที่ข่านเดินทางเยือนรัสเซีย เจรจาหารือแบบทวิภาคีกับประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ในหลายประเด็นทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ทัพรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน

กองทัพปากีฯซึ่งมีกองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์จำนวนมากเป็นอันดับต้นของโลก กองทัพมักมีอำนาจเหนือรัฐบาลในแง่การตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนทางทหารจากชาติมหาอำนาจตะวันตกมาโดยตลอด

ทว่าสวนทางกับท่าทีและโวหารที่แข็งกร้าวของข่าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สำคัญหลายประการ

ปากีสถานจุดที่ตั้งและความสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับชาติเพื่อนบ้านอย่างอัฟกานิสถาน ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนผ่านกลับเข้าสู่ยุคตาลีบันครองเมืองอีกครั้ง และเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและมนุษยธรรม อันเนื่องมาจากการขาดเงินและการแยกตัวจากนานาชาติ ส่งผลให้ที่พึ่งแห่งเดียวของอัฟกานิสถาน คือ “กาตาร์” จึงเป็นพันธมิตรต่างชาติที่สำคัญอยู่ขณะนี้

ส่วนปากีสถานก็มีแนวโน้มจับมือกับรัฐบาลตาลีบันมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สหรัฐไม่ต้องการ

ส่วนเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง “จีน” ที่ผ่านมา ข่านได้สนับสนุนบทบาทของจีนในปากีสถานอย่างดี โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ เชห์บาซ ชารีฟ น้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ ผู้เคยรั้งตำแหน่งผู้นำประเทศ 3 สมัย ได้ทำข้อตกลงกับจีน ในฐานะผู้นำสำคัญพื้นที่จังหวัดปัญจาบตะวันออก ติดชายแดน ซึ่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้ประสบความสำเร็จ

ดังนั้นไม่ว่าการเมืองในอิสลามาบัดจะเปลี่ยนขั้วอย่างไร “จีน” ยังคงได้ประโยชน์อย่างชัดเจน

“อาทีฟ เมียน” นักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถาน-อเมริกัน ทั้งเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และการเงิน ที่มหาวิทยาลัยปรินสตัน ของสหรัฐ วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศของรัฐบาลยุคข่านได้อย่างเผ็ดร้อนว่า “ข่านผู้ขอทาน” จากการที่เขามักไปขอความช่วยเหลือทางการเงินและเศรษฐกิจจากมหาอำนาจอย่างจีน และรัสเซีย หลายต่อหลายครั้ง

ศ.อาทีฟระบุว่า ช่วงที่ข่านขึ้นครองอำนาจ เศรษฐกิจปากีสถานตกต่ำมานานแล้ว โดยวิกฤตเงินรูปีปากีสถานที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง หนี้สาธารณะสูง งบประมาณขาดดุลทะลุเพดาน

เมื่อข่านขึ้นเป็นนายกฯ ไม่ได้ทำอะไรมากมาย หนำซ้ำยังปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่แย่ลงไปอีก รายได้เฉลี่ยประชากรของปากีสถานแทบจะไม่เพิ่มขึ้น และประเทศไม่เคยหลุดพ้นจากวิกฤตขาดดุลการชำระเงิน

รัฐบาลข่านไม่ได้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลข่านเสียเวลาและเสียงบประมาณไปกับโครงการอันเปล่าประโยชน์ที่ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่านยังใช้วิธีซิกแซ็กทางกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าจะออกนโยบายต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านมติสภา ในทางกลับกันรัฐบาลไปแสวงหาเงินกู้จากทั้งไอเอ็มเอฟ และรัฐบาลต่างชาติแทน โดยเฉพาะกับจีน

ดอกเบี้ยนโยบายสูงแตะระดับ 12.25%

เศรษฐกิจของปากีสถานเผชิญเงินเฟ้อสูงถึง 13% เงินรูปีปากีอ่อนค่าลงต่อเนื่องหลายเดือน วิกฤตขาดดุลการชำระเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำร้ายเมื่อ 7 เมษายนที่ผ่านมา แบงก์ชาติปากีสถาน (SBP) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 9.75% เป็น 12.25% แน่นอนว่าการขึ้นดอกเบี้ยพรวดสูงขนาดนี้ จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากข้อมูลของแบงก์ชาติปากีฯ ณ 1 เมษายน 2022 ระบุว่า ทุนสำรองต่างประเทศอยู่ที่ 17.47 พันล้านดอลลาร์ ทว่าปากีสถานมีภาระผูกพันหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระทั้งสิ้น 12.4 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินต้น 10.4 พันล้าน และดอกเบี้ย 2 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ระงับการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการต่าง ๆ ลงชั่วคราว จนกว่ารัฐบาลปากีฯจะมีเสถียรภาพในประเทศ


แม้การเมืองภายในปากีฯจะเปลี่ยนขั้วในชั่วข้ามคืน แต่ปัญหาที่ยังเรื้อรังและลูกผีลูกคน คือ สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำย่ำแย่มานาน ทั้งจะเป็นความท้าทายอันใหญ่ยิ่งสำหรับนายกฯคนใหม่ที่ต้องเผชิญทั้งแรงกดดันจากกองทัพ และปากท้องประชาชน