ปากีสถานโกลาหล นายกฯยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ หนีโหวตไม่ไว้วางใจ

อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน
REUTERS/Saiyna Bashir/File Photo

เกิดอะไรขึ้นกับปากีสถาน เมื่ออิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรียุบสภาเลือกตั้งใหม่ฉับพลัน หนีเอาตัวรอดลงมติไม่ไว้วางใจ

วันที่ 5 เมษายน 2565 การเมืองประเทศปากีสถานกำลังเผชิญวิกฤตรัฐธรรมนูญจากการที่เมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ประกาศยุบสภาในทันที พร้อมยื่นเรื่องขอให้ประธานาธิบดีอนุมัติเตรียมการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน

โดยนายอิมราน ข่าน จะดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้ง

เหตุนายกฯปากีสถานประกาศยุบสภาโดยเฉียบพลันนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐสภาปากีสถานเตรียมลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีแนวโน้มว่าการลงมติดังกล่าวจะทำให้พรรคฝ่ายค้านขึ้นครองอำนาจในสภาได้แทน

ทว่า รองประธานสภาปากีสถานกลับไม่ยอมให้ดำเนินการลงมติไม่ไว้วางใจ โดยอ้างเหตุผลว่า “พบการแทรกแซงจากต่างชาติ” ในกระบวนการของรัฐสภา

REUTERS/Akhtar Soomro

การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลอินราน ข่าน ตามมุมมองของฝ่ายค้านและสื่อมวลชนในประเทศหลายแห่งมองว่า ก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญและนับเป็นการก้าวล่วงกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญของประเทศนายกรัฐมนตรีไม่สามารถขอให้ยุบสภาในระหว่างที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจได้

ภายหลังนายข่านได้แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์อ้างว่ามีหลักฐานที่รัฐบาลสหรัฐพยายามแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ โดยนายข่านอ้างว่าการแทรกแซงจากตะวันตกนั้นก็เพราะเขามีนโยบายเอนเอียงหนุนชาติมหาอำนาจที่อยู่ขั้วตรงข้ามชาติตะวันตกอย่างรัสเซียและจีน

สำหรับอิมราน ข่าน ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ในช่วงแรกที่ขึ้นครองอำนาจเขาถูกมองว่าเป็นผู้นำที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพอย่างมาก ทว่า อย่างไรก็ตาม หลังการครองอำนาจมาได้ครึ่งสมัย นายข่านกำลังสูญเสียการสนับสนุนจากพันธมิตรทางการเมืองบางส่วนจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด

กองทัพปากีสถานมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งยังเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียกลาง ที่ผ่านมามีรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จแล้วถึง 3 ครั้ง รัฐบาลของอิมราน ข่าน ถือเป็นรัฐบาลพลเรือนชุดที่ 2 ของประเทศนับตั้งแต่ปากีสถานได้รับเอกราชในปี 1947 แม้ว่าอำนาจการบริหารจะมาจากฝ่ายพลเรือน

ทว่า กองทัพก็ยังคงทรงอิทธิพลมีบทบาทเข้มแข็งในหลายส่วน กองทัพปากีสถานยังคงครองอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านการถือครองที่ดินและถือหุ้นในองค์กรขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งยังทรงอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าข่านได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพในข้อตกลงที่เรียกว่า ระบอบการปกครองแบบลูกผสม ในการซ้อมรบเบื้องหลังกองกำลังติดอาวุธช่วยให้เขาเอาตัวรอดจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้หลายครั้งโดยคู่ต่อสู้เพื่อขับไล่เขาออกจากอำนาจ

อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ถึงตอนนี้กองทัพเริ่มแสดงท่าทีไม่สนับสนุนเขาแล้ว

ทั้งนี้ จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมีรายงานว่า ศาลสูงสุดของปากีสถานกำลังเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าสอบสวน โดยคาดว่าภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ศาลปากีสถานจะมีคำตัดสินชี้ขาดถึงคำสั่งยุบสภาดังกล่าว หลังจากที่พรรครัฐบาลของนายข่าน พยายามขัดขวางกระบวนการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะถอดถอนนายกรัฐมมนตรีออกจากตำแหน่ง