ลุย FTA ไทย-ปากีสถาน เชื่อมเส้นทางการค้าสู่ “จีน”

ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ (FTA) ไทย-ปากีสถานหยุดชะงักมา 2 ปี จากปี 2562 หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในปากีสถาน ทำให้การเจรจาค้างอยู่ในรอบที่ 9 นับจากเริ่มเปิดการเจรจาเมื่อปี 2558 และยิ่งมาประสบภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำอีก ทำให้ความตกลงดังกล่าวแทบจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเลย

แต่ในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 นี้จะครบรอบสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและปากีสถาน 70 ปี หากสองฝ่ายหวนคืนการเจรจากันอีกครั้ง นับได้ว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งสองฝ่ายในอนาคต

ในการสัมมนาออนไลน์ “เข้าถึง เข้าใจ โอกาสการค้าไทยในปากีสถาน” เมื่อเร็ว ๆ นี้ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้กรมจะเจรจาความตกลงฉบับนี้ โดยมีเป้าหมายหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด

“ต้องยอมรับว่าปากีสถานเป็นประเทศที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมากมายที่จะดึงดูดการค้าและการลงทุน แต่ละปีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ยที่ 10 ล้านล้านบาท ประชากร 210 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 53,600 บาทต่อคนต่อปี

ในปี 2563 ไทย-ปากีสถานมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าของไทยอันดับ 2 ของเอเชียใต้ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า”

นางอุมาพร ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักเอเชียแอฟริกาและตะวันออกกลาง กล่าวว่า ก่อนที่จะเจรจาเอฟทีเอนี้เมื่อปี 2558 กรมได้ศึกษาผลดีผลเสีย โอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทย ได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า

เอฟทีเอนี้จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 0.08-0.32% ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยจะสามารถส่งออกเพิ่ม 170 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น เคมีภัณฑ์ พลาสติก เหล็ก ผัก ผลไม้ เป็นต้น และเพิ่มมูลค่าการลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

และที่สำคัญ “ปากีสถาน” มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (ซีเปก) หรือ China Pakistan Economic Corridor (CPEC) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศประกาศทุ่มงบประมาณ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท

เดินหน้าความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีต่อพันธมิตรของทั้งสองประเทศ อีกทั้งปากีสถานได้ทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และศรีลังกา เป็นต้น

สำหรับเอฟทีเอจีน-ปากีสถานนั้นได้ลดภาษีระหว่างกันเป็นรอบที่ 2 ครอบคลุมสินค้า 90% ของสินค้าทั้งหมด ทำให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่จีนลดภาษีให้ปากีสถาน เช่น สิ่งทอ ฝ้าย หินอ่อนเป็นต้น

ส่วนปากีสถานลดภาษีให้จีน เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปปากีสถานเช่นกัน อีกทั้งปากีสถานยังมีเอฟทีเอกับต่างประเทศก็เป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย ไทยจึงต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอกับปากีสถานสร้างแต้มต่อการค้า

ทั้งนี้ ในการเจรจา 9 รอบที่ผ่านมาได้ข้อสรุปแล้ว 12 ข้อบท จากทั้งหมด 17 ข้อบท คือ ข้อบทบัญญัติพื้นฐาน คำจำกัดความทั่วไป การค้าสินค้าด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านมาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ด้านการเยียวยาทางการค้า ด้านความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการและสถาบัน ด้านการระงับข้อพิพาท ข้อยกเว้น และบทบัญญัติสุดท้าย

แต่ยังอยู่ระหว่างเจรจาข้อบทด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเตรียมจะเจรจาลำดับต่อไป คือ ข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านนโยบายการแข่งขัน ด้านการค้าบริการ และข้อบทด้านการลงทุน

นายส่องแสง ปทะวานิช รองประธานสภาธุรกิจไทย-ปากีสถาน กล่าวว่า หากไทยมีข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-ปากีสถาน จะช่วยเพิ่มแต้มต่อของไทยในการแข่งขันส่งออกของไทยได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ปากีสถานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางทะเลเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการส่งออก หากมีการเจรจาเอฟทีเอสำเร็จเชื่อว่าไทยจะเป็นโอกาสการลงทุนด้านการประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งไทยเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสการส่งออกสินค้ากลุ่มพลาสติก เครื่องสำอาง ที่มีโอกาสเติบโต

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ช่วงโควิดส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่มากนัก แต่ที่ผ่านมาการซื้อ-ขายมีอัตราเติบโตดี กรมได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกผ่านระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการค้าให้มากขึ้น

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้า เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย เป็นต้น