ฟินแลนด์จ่อทิ้งสถานะ “ชาติเป็นกลาง” ร่วมวงนาโต้ ?

Paul Wennerholm/TT News Agency/via REUTERS

เหตุใดฟินแลนด์เตรียมทิ้งความเป็นกลาง วางเดิมพันรัสเซีย เลือกข้างร่วมวงนาโต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สองผู้นำหญิง นางซันนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ และนางมักดาเลียนา อันเดอช็อน นายกรัฐมนตรีสวีเดน เปิดแถลงข่าวร่วมกันที่กรุงสต็อกโฮล์มของสวีเดน

ประเด็นสำคัญของการแถลงร่วมระหว่างสองนายกหญิงคือ ความสนใจเข้าร่วมนาโต้ โดยเฉพาะนายกหญิงฟินแลนด์ ที่ย้ำถึงความสนใจของฟินแลนด์ที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ “ในเร็ว ๆ นี้”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกหญิงฟินแลนด์แสดงความสนใจเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ทว่าการแถลงข่าวร่วมกับนายกสวีเดน ถือเป็นสัญญาณชัดเจนที่สุดของสองชาติสแกนดิเนเวียที่ยึดแนวทาง “ชาติเป็นกลาง” (Neutral country) มาเนิ่นนาน ทว่าหรือแนวทางนี้จะเปลี่ยนไป นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสองชาติสมาชิกอียูเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้นั้น หากเทียบกันแล้วท่าทีดูเหมือนการแสดงจุดยืนของฟินแลนด์จะเขย่ารัฐบาลเครมลินอยู่ไม่น้อย ในทางประวัติศาสตร์ทั้งสองชาติดำเนินนโยบายรักษาสถานะ “ความเป็นกลาง” ต่อสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียเป็นแนวยาวกว่า 1,340 กม ต่างกับสวีเดนไม่มีพรมแดนติดรัสเซีย การที่ฟินแลนด์จะเข้าร่วมนาโต้แน่นอนว่า อาจสร้างความไม่พอใจต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งสั่งบุกยูเครนโดยอ้างเหตุผลเรื่องความใกล้ชิดนาโต้

จุดเริ่มต้น ฟินแลนด์ “เป็นกลาง”

ย้อนไปสมัยจักรวรรดิรัสเซียดินแดนซึ่งเป็นประเทศฟินแลนด์ในปัจจุบันเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย กระทั่งปี 1917 หรือ พ.ศ. 2460 ร่วมสมัยกับสยามในยุคพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฟินแลนด์ได้รับเอกราชแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระ

Advertisment

ต่อมาในปี 1939 สหภาพโซเวียตรุกรานฟินแลนด์ เกิดเป็นสงครามฤดูหนาว หรือ สงครามโซเวียต-ฟินแลนด์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวยังตรงกับช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ต้นเหตุของสงครามฤดูหนาวจากการที่ฟินแลนด์ปฏิเสธยกดินแดนบางส่วนให้โซเวียตใช้ตั้งฐานทัพ สงครามฤดูหนาวกินเวลาสู้รบถึง 105 วัน ซึ่งกองทัพฟินแลนด์สามารถต้านทานทัพโซเวียตได้อย่างเหลือเชื่อแม้ทัพฟินแลนด์มีกำลังพลน้อยกว่า

สงครามฤดูหนาวสิ้นสุดลงเมื่อ 12 มีนาคม ค.ศ. 1940 หลังการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก โดยฟินแลนด์ยอมยกดินแดนบางส่วนให้โซเวียตและยอมให้โซเวียตก่อสร้างฐานทัพเรือบนคาบสมุทรฮังโก เป็นการยอมเสียดินแดนบางส่วนเพื่อรักษาเอกราชของทั้งประเทศ และเพื่อยุติความพยายามของโซเวียตในการยึดครองฟินแลนด์ในอนาคต

Advertisment

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตและพันธมิตรตะวันตกอย่าง สหรัฐและสหราชอาณาจักร กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ชัยชนะของชาติมหาอำนาจพันธมิตร สหราชอาณาจักร , สหภาพโซเวียต , สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพปารีส ค.ศ. 1947

เนื้อหาสัญญาดังกล่าว คือการจัดการปัญหาของชาติที่แพ้สงคราม ประเด็นหนึ่งคือเรื่องพรมแดนระหว่างโซเวียตและฟินแลนด์ ฟินแลนด์เสียเปรียบโซเวียตหลายอย่าง ตั้งแต่จำต้องยกดินแดนเกือบ 10% ให้โซเวียตรวมถึงเมืองสำคัญบางเมือง จนถึงต้องค่าปฏิกรรมสงครามให้โซเวียตเป็นทองคำมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ (เนื่องจากช่วงสงครามฤดูหนาวฟินแลนด์ไปขอความช่วยเหลือจากเยอรมนีในการต่อต้านโซเวียต จนท้ายที่สุดจำต้องเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะนาซี)

เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเย็นสหภาพโซเวียตถูกผลักดันให้อยู่นอกวงเจรจาของตะวันตกมากขึ้น จากแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นคนละแนวทางต่อชาติประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม “ฟินแลนด์” ซึ่งได้รับความเจ็บปวดจากสงครามฤดูหนาวและสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องหาแนวทาง “อยู่รอดและอยู่เป็น” ท่ามกลางสองขั้วมหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ส่งผลให้เกิดแนวคิด “ปาซิกิวิ–เกกโกเนน” (Paasikivi–Kekkonen doctrine) ตั้งตามชื่อของอดีต 2 ประธานาธิบดีฟินแลนด์คือ ยุโฮ กุสติ ปาซิกิวิ (Juho Kusti Paasikivi) และ อุรโฮ เกกโกเนน (Urho Kekkonen) บนพื้นฐานหลักการที่มุ่งเป้าเพื่อให้ฟินแลนด์อยู่รอดในฐานะรัฐอิสระบนอธิปไตยของตนเองโ ดยมีระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ขณะที่มีพรมแดนยาวนับพันกิโลเมตรอยู่ติดกับชาติคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต พูดง่ายๆคือ ฟินแลนด์พยายามเอาตัวรอดท่ามกลาง 2 ขั้วมหาอำนาจ

ค.ศ. 1948 ฟินแลนด์-โซเวียต ได้ลงนามในสนธิสัญญาความตกลงว่าด้วยมิตรภาพ ความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Finno-Soviet Treaty of 1948) สัญญาแม้ฟินแลนด์ดูเหมือนจะเสียผลประโยชน์และโซเวียตเป็นผู้คุมเกม แต่ก็ถือเป็นหลักประกันชั้นดีว่าฟินแลนด์จะไม่ถูกโซเวียตรุกรานอีก ทั้งยังถือเป็นเครื่องมือหลักของฟินแลนด์ในการรักษาความเป็นกลางของชาติบนแนวคิด “ปาซิกิวิ–เกกโกเนน”

สนธิสัญญานี้มีการลงนาม “ต่ออายุ” เรื่อยมาตั้งแต่ปี 1970 และครั้งสุดท้ายปี 1992 ซึ่งโซเวียตล่มสลาย ฟินแลนด์ก็ยังคงยึดแนวทางนี้ในการสานสัมพันธ์กับรัสเซีย เนื่องจากแม้โซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว แต่รัสเซียก็ยังคงมีความแข็งแกร่งด้านการทหารที่ฟินแลนด์ต้องระแวดระวังในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่ดี

ถึงจุดนี้ต้องอธิบายด้วยว่า เสถียรภาพการเมืองภายในของฟินแลนด์ที่ถูกออกแบบให้มีรัฐบาลผสม และรัฐสภาแบบหลายพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมากนัก ทำให้ฟินแลนด์ยังสามารถ “บาลานซ์” ความสัมพันธ์ของประเทศต่อตั้งโซเวียตจนถึงรัสเซียในปัจจุบันได้ ในปี 2007 ที่ฟินแลนด์มีรัฐบาลพรรคกลาง-ขวา ถึงขนาดที่รัฐมนตรีกลาโหมฟินแลนด์ที่ชื่อ ยึริ เฮแคมิเอส เคยกล่าวกลางรัฐสภาว่า เสาหลักสามประการของความมั่นคงฟินแลนด์คือ “รัสเซีย รัสเซีย และรัสเซีย”

วิธีการที่ชาติมหาอำนาจทำให้ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ยอมปฏิบัติตามกฎนโยบายต่างประเทศของตนสมัยอดีต ขณะที่ประเทศที่เล็กกว่าก็ยอมทำตามเช่นกันเพื่อรักษาอิสระและเอกราชของตนไว้นั้น ศัพท์วงการทูตเรียกว่า “ทำให้เป็นฟินแลนด์” หรือ Finlandization ซึ่งเป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น

Finnish and NATO flags are seen printed on paper this illustration taken April 13, 2022. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

เฮลซิงกิ ฉีกกฎ Finlandization ?

แม้เปลี่ยนผ่านจากโซเวียตสู่รัสเซีย ฟินแลนด์ก็ยังคงยึดแนวทาง “Finlandization” เรื่อยมา กระทั่งรัสเซียได้ผู้นำที่ชื่อ วลาดิเมียร์ ปูติน สมัยแรกที่ปูตินครองอำนาจในเครมลินยังไม่แข็งกร้าวสักเท่าไหร่ กระทั่งกลับมาในสมัยสองนับตั้งแต่ปี 2012 ปูตินเริ่มแข็งกร้าวต่อชาติพันธมิตรตะวันตกมากขึ้น บนความฝันที่อยากฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของรัสเซียยุคโซเวียตขึ้นมาอีกครั้ง

กระทั่งปลายปี 2021 ที่รัสเซียเริ่มประชิดพรมแดนยูเครน รัฐบาลเฮลซิงกิของฟินแลนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคสายกลางซ้าย เริ่มแสดงจุดยืนที่ต่างออกไปจากเดิม เฮลซิงกิ แสดงท่าที่สนับสนุนชาติพันธมิตรนาโต้ในหลายประเด็น กระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน

จุดยืนของฟินแลนด์สอดคล้องกับชาติอื่นๆที่เป็นสมาชิกอียูคือ ร่วมวงคว่ำบาตรรัสเซีย ตรงนี้ที่แรงสั่นสะเทือนเขย่าไปถึงมอสโก ซึ่งโฆษกเครมลินถึงกับต้องออกมาเตือนฟินแลนด์ว่า หากฟินแลนด์เอนเอียงไปทางนาโต้ จะกระทบต่อการเมืองและการทหารทั้งจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย ทั้งขู่ว่าฟินแลนด์อาจลงเอยเช่นเดียวกับยูเครน

ช่วงก่อนรัสเซียบุกยูเครน ผลสำรวจความเห็นชาวฟินแลนด์ร้อยละ 53 เห็นด้วยที่ประเทศจะเข้าร่วมนาโต้ และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังรัสเซียเปิดแนวรบยูเครน ช่วงก่อนสงครามยูเครนปะทุ เซาลี นีนิสเตอ ประธานาธิบดีฟินแลนด์เคยกล่าวว่า ฟินแลนด์ยังคงยืนอยู่บนอำนาจอธิปไตยของตนเอง รัฐบาลฟินแลนด์มีสิทธิ์ในการสมัครหรือไม่สมัครร่วมนาโต้ ขณะเดียวกันผู้นำฟินแลนด์ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัสเซียมีท่าทีคุกคามต่อ “ความมั่นคงของยุโรป” มากขึ้น จึงจำต้องมีความร่วมมือข้ามแอตแลนติกเพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของสหภาพยุโรปบางชาติ ซึ่งรวมถึงฟินแลนด์ด้วย

เช่นเดียวกับสวีเดนที่เดิมทีดำรงความเป็นกลางมาโดยตลอด แต่เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน กระแสจากชาวสวีเดนไม่น้อยเรียกร้องให้เข้าร่วมกลุ่มนาโต้มากขึ้น แม้ว่าการทำเช่นนี้ไม่ต่างกับการประกาศศึกต่อรัสเซียก็ตาม ถึงขั้นที่ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวเตือนทั้งสองประเทศอย่าได้คิดเพิ่มความขัดแย้งด้วยการเข้าร่วมนาโต้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการตอบโต้ทางการเมืองและการทหารตามมา และจะส่งผลต่อเสถียรภาพของยุโรป

Finnish and Russian flags are seen through broken glass this illustration taken April 13, 2022. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

ขั้นตอนเป็นสมาชิกนาโต้

ตามปกติแล้วการเข้าร่วมสมาชิกนาโต้อาจใช้เวลานานหลายปี ประเทศที่ต้องการร่วมสมาชิกนาโต้ จะต้องพูดคุยสานสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับผู้นำนาโต้รวมถึงบรรดาชาติพันธมิตร และต้องได้รับคะแนนโหวตจากชาติสมาชิกเกิน 2 ใน 3 เสียง แต่สำหรับฟินแลนด์และสวีเดนอาจเป็นไปภายใต้ “โควต้าพิเศษ” ดังที่ ยาน สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ กล่าวว่า ทั้งสองประเทศ “บรรลุมาตรฐาน” ของการเป็นสมาชิกนาโต้แล้ว ทั้งเสถียรภาพการเมืองภายใน ประชาธิปไตย และความมั่นคงทางทหาร

เอลิซาเบธ บราว์ จากสถาบัน American Enterprise Institute ระบุความเห็นในเว็บไซต์โพลิติโก ว่า สวีเดนกับฟินแลนด์ อาจจับมือกับนาโต้ในรูปแบบพิเศษที่ยังไม่ใช่ฐานะ “ชาติสมาชิก” เนื่องจากกระบวนการพิจารณาต่างๆ ที่ยาวนาน แม้ว่า เลขาธิการนาโต้จะมั่นใจว่า “ชาตินาโต้จะหาวิธีแก้ไขความซับซ้อนในการให้สัตยาบันเพื่อรับทั้งสองชาติเป็นสมาชิกได้”

ด้านรายงานจากวอชิงตันโพสต์ ระบุว่า ช่วงก่อนที่สวีเดนกับฟินแลนด์จะเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว อาจมีความร่วมมือแบบพิเศษที่ครอบคลุมถึง การให้สิทธินาโต้ในการคุ้มครองสวีเดนและฟินแลนด์ หากว่ารัสเซียคิดตอบโต้ใดๆก็ตาม ในช่วงก่อนที่สวีเดนหรือฟินแลนด์จะเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ