“ของแพง-ค่าแรงถูก” กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ร้านอาหาร
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ดร.ชินวุฒิ เตชานุวัตร์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการฟื้นตัว

หากวิกฤตโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจ้างงานและรายได้ วิกฤตพลังงานและโภคภัณฑ์ล่าสุดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยชาติตะวันตกที่เกี่ยวเนื่อง ก็กำลังส่งผลกระเทือนต่อ “ภาวะเงินเฟ้อ” หรือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการขยับเพิ่มสูงขึ้น

เป็นแรงกดดันขนาบทั้ง 2 ด้านต่อกำลังซื้อของครัวเรือน เป็นความต่างที่เหมือนกันในด้านผลลัพธ์

ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเร่งตัวสูงถึง 5.7% โดยเป็นผลจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามเป็นสำคัญ

EIC ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีของไทยในปีนี้จะเร่งตัวสูงถึง 4.9% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2008 ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะเงินเฟ้อไทยที่เร่งตัวสูงในรอบนี้มีลักษณะที่แปลกแยกจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา และอาจมีประเด็นที่น่ากังวลกว่าเงินเฟ้อรอบก่อนหน้า อย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก เงินเฟ้อในรอบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดี วิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยหนักหน่วงที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ความรุนแรงของโรคโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นของการระบาดที่ยังไม่มีวัคซีน รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่เข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงถึง -6.1% ในปี 2020

แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังการเปิดเศรษฐกิจและเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด และ EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นกลับไปอยู่ในระดับเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดกระทั่งครึ่งปีหลังของปี 2023

ขณะที่ภาวะตลาดแรงงานของไทยในปัจจุบันยังคงเปราะบาง มีแรงงานกว่า 6 แสนคนที่ยังตกงาน รายได้เฉลี่ยลดลง อีกทั้งแรงงานจำนวนมากต้องออกจากงานประจำ และหันมาทำอาชีพอิสระที่อาจมีความมั่นคงทางรายได้น้อยกว่า

เมื่อรายได้จากการจ้างงานยังคงย่ำแย่ แต่เงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือรายได้ที่แท้จริงหรือกำลังซื้อของแรงงานและครัวเรือนหดตัวลง ในปีที่แล้วรายได้ที่แท้จริงที่หักผลเงินเฟ้อของแรงงานเฉพาะในกรุงเทพฯ หดตัวถึง -10.3%

ดังนั้น เงินเฟ้อในปีนี้ที่จะเร่งตัวสูงกว่าปีที่แล้วจะกระทบต่อภาวะรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างมีนัย ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป

ประการที่สอง เงินเฟ้อในรอบนี้เกิดขึ้นจากหลากหลายสินค้านอกเหนือจากน้ำมัน สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อปัญหาด้านอุปทานที่ไกลเกินกว่าเรื่องของน้ำมัน ที่มักเป็นต้นทางของปัญหาเงินเฟ้อรอบก่อน ๆ

นอกจากรัสเซียจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันและพลังงานหลักของโลกแล้ว รัสเซียรวมถึงยูเครนยังเป็นแหล่งจัดหาโภคภัณฑ์สำคัญอื่น ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น โลหะอุตสาหกรรม และสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อันได้แก่ แพลเลเดียม และก๊าซนีออน และที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตร เช่น ธัญพืช อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี

มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจึงก่อให้เกิดความกังวลต่อการขาดแคลนด้านอุปทานและราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นแบบยกแผงแทบจะทันที

เป็นแรงกดดันโดยตรงต่ออัตรากำไรของภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องเลือกว่าจะส่งผ่านภาระต้นทุนไปที่ผู้บริโภค หรือแบกรับไว้เองเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ขณะที่การขยายการจ้างงานในบางภาคธุรกิจอาจจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเพื่อควบคุมต้นทุน

เงินเฟ้อจึงมีแนวโน้มจะเร่งตัวในวงกว้างกว่ารอบก่อน ขณะที่การจ้างงานจะยังฟื้นตัวได้ช้า และค่าแรงจะยังขึ้นได้ไม่มากจากแรงหน่วงด้านต้นทุน

ประการสุดท้าย เงินเฟ้อในรอบนี้เกิดขึ้นในภาวะที่ภาคการคลังไทยเริ่มตึงตัว โดยปกติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาตลาดโลกบนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม จึงเป็นตัวช่วยควบคุมเสถียรภาพด้านราคาในทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันที่สถานะกองทุนน้ำมันฯติดลบอยู่กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ประกอบกับหนี้สาธารณะที่ขยับสูงเกิน 60% ของจีดีพี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด บทบาทของภาครัฐในการอุดหนุนราคาผ่านกองทุนน้ำมันฯและลดภาษีสรรพสามิตจึงกำลังพบกับข้อจำกัดที่มากขึ้น และอาจจำเป็นต้องเริ่มปล่อยให้ราคาขายปลีกสะท้อนราคาตลาดโลกในระยะต่อไป สถานการณ์เงินเฟ้อจึงเปราะบางกว่าช่วงก่อนหน้าที่ภาคการคลังมีความพร้อมมากกว่าปัจจุบัน

ภาวะ “ของแพง-ค่าแรงถูก” จึงกำลังเป็นปัจจัยใหม่ที่เข้ามากดดันเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด