‘ญี่ปุ่น’ กับความท้าทายด้านพลังงาน เมื่อจำต้องแซงก์ชั่น ‘รัสเซีย’

ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาพลังงานนำเข้าจาก “รัสเซีย” ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น แต่จากกรณีสงครามยูเครนส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องดำเนินมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซีย กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในการแสวงหาซัพพลายเออร์แหล่งใหม่มาทดแทนพลังงานปริมาณมหาศาลที่เคยนำเข้าได้จากรัสเซีย

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า บริษัทพลังงานญี่ปุ่นหลายรายระบุว่า ขณะที่กำลังเร่งเจรจาแสวงหาแหล่งนำเข้าถ่านหินแห่งใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” แห่งญี่ปุ่น ประกาศว่า ญี่ปุ่นจะระงับการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียทั้งหมด ตามข้อตกลงของกลุ่ม “จี 7” (G7) ที่ตั้งเป้าลดการพึ่งพาพลังงานเพื่อกดดันรัสเซีย

โดย “เจร่า” (JERA) ผู้นำเข้าถ่านหินรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งนำเข้าถ่านหินประมาณ 20 ล้านตัน/ปี โดยที่ถ่านหินจากรัสเซียมีสัดส่วนสูงกว่า 10% ระบุว่า “ในขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อการจัดซื้อของบริษัท ถ่านหินของรัสเซียจะยังคงส่งมอบให้กับบริษัทตามสัญญา แต่จะมีการจัดหาถ่านหินจากแหล่งใหม่ที่ไม่ใช่รัสเซียในอนาคต”

ส่วน “คิวชู อิเล็กทริก เพาเวอร์” (Kyushu Electric Power) ก็เปิดเผยว่า เมื่อปีงบประมาณ 2020 บริษัทได้นำเข้าถ่านหินจากรัสเซียราว 7% ของการนำเข้าทั้งหมด แต่ในขณะนี้บริษัทกำลังเร่งกระจายความต้องการไปยังซัพพลายเออร์อื่น ๆ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย

นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายอย่าง “เจเอฟอี สตีล” (JFE Steel) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณานำเข้าถ่านหินโค้ก (coking coal) สำหรับการถลุงเหล็กจากออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ แทนที่การนำเข้าจากรัสเซีย

ขณะที่บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษอย่าง “เรนโก” (Rengo) ที่เคยใช้ถ่านหินจากรัสเซียในกระบวนการผลิตทั้งหมด ก็จะเปลี่ยนไปนำเข้าจากอินโดนีเซียแทน

ถ่านหินนับว่ามีสำคัญในภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของความต้องการพลังงานทั้งหมด

ทั้งนี้ “รัสเซีย” ถือเป็นแหล่งนำเข้าถ่านหินรายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนราว 15% ของการนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี 2020 เป็นรองจาก “ออสเตรเลีย” ที่มีสัดส่วนสูงถึง 67% ตามข้อมูลของบรรษัทน้ำมัน ก๊าซและโลหะแห่งชาติญี่ปุ่น (JOGMEC)

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัสเซีย ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จะยังคงร่วมมือกับรัสเซียในโครงการ “ซาคาลิน-2” (Sakhalin-2) ต่อไป เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญ ที่สามารถส่งมอบให้กับญี่ปุ่นได้ถึง 10 ล้านตัน/ปี ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศญี่ปุ่นไว้

ขณะที่บริษัทพลังงานญี่ปุ่นบางรายยังคงกังวลว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอาจหยุดชะงักลงได้จากสถานการณ์ความขัดแย้ง ส่งผลให้ “โอซากะ แก๊ส” (Osaka Gas) มีแผนนำเข้าก๊าซธรรมจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม รวมถึงวางแผนเข้าซื้อในตลาดซื้อขายทันที (spot market) หากรัสเซียระงับการส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้ญี่ปุ่น

ส่วน “ฮิโรชิมะ แก๊ส โค.” (Hiroshima Gas Co.) ผู้ถือสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากโครงการซาคาลิน-2 ในปริมาณ 200,000 ตัน/ปี ก็ระบุว่า “กรณีที่มีปัญหาในการส่งมอบก๊าซจากซาคาลินจากรัสเซีย บริษัทจะพิจารณาเพิ่มปริมาณการนำเข้าจากมาเลเซีย หรืออาจขอร้องให้ส่งก๊าซสำรองมาล่วงหน้า”

ทั้งนี้ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัสเซีย คิดเป็นเกือบ 10% ของการนำเข้า LNG ทั้งหมดของญี่ปุ่น ซึ่งความพยายามในการแสวงหาแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินจากแหล่งใหม่ ทดแทนรัสเซียจะส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องแข่งขันกับอีกหลายประเทศในยุโรป รวมถึงเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังแข่งขันแย่งชิงซัพพลายเออร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดในตลาดโลกมาแทนที่รัสเซีย

และทั้งหมดนี้อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาพลังงานโลกที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก