แรงบีบคั้นตลาดงาน ‘จีน’ บัณฑิตเคว้ง-เศรษฐกิจสะดุด

นโยบายปลอดโควิด-19 หรือ “ซีโร่โควิด” (Zero COVID) ที่ทางการจีนใช้รับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ กำลังซ้ำเติมภาคธุรกิจที่ต้องกลับมาอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการจ้างงานในจีนลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อบัณฑิตจีนจบใหม่ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดในการแย่งชิงตำแหน่งงาน

นิกเคอิ เอเชียรายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานในจีน ระบุว่า ความต้องการจ้างงานผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือ “บัณฑิตจบใหม่” ของจีนในช่วงไตรมาส 1/2022 ลดลง 4.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2021 ตามข้อมูลของ Zhaopin.com ผู้ให้บริการจัดหางานชั้นนำของจีน

ส่วนหนึ่งมาจากการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ในหลายพื้นที่ของจีนตามนโยบายซีโร่โควิด โดยเฉพาะ “เซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ ซึ่งเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานข้อมูลของ “โนมูระ” ผู้ให้บริการทางการเงิน ระบุว่า มีชาวจีนกว่า 328 ล้านคนใน 43 เมืองของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์โดยตรงหรือบางส่วน

ซึ่งพื้นที่ล็อกดาวน์เหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นราว 31% ของจีดีพีจีน โดยผลกระทบส่วนหนึ่งทำให้ความต้องการจ้างงานของภาคธุรกิจหดตัวลง ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมความต้องการจ้างงานที่ชะลอตัวก่อนหน้านี้ในหลายภาคธุรกิจที่เผชิญกับการตรวจสอบปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลจีน

อย่างเช่น “สถาบันกวดวิชา” ที่ถูกปราบปรามอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการจ้างงานในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับ มี.ค. 2021 ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่เผชิญวิกฤตครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีการจ้างงานลดลง 30% รวมถึงความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ลดลง 2%

ตลาดงานที่หดตัวลงนี้กำลังสร้างแรงกดดันต่อผู้ว่างงานชาวจีน โดยเฉพาะบัณฑิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในช่วงเดือน มิ.ย.นี้อีกราว 10.76 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีเพียง 13.5% ของผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาในปีนี้ที่มีตำแหน่งงานรองรับแล้ว ตามการสำรวจเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2022 ของไฉซิน (Caixin) กลุ่มธุรกิจสื่อจีน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักศึกษาจีนในต่างประเทศที่เดินทางกลับจีนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์กว่า 1 ล้านคนในปี 2021 และนักเรียนกลุ่มนี้ก็แข่งขันในตลาดงานจีนด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดงานจีนยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

แม้ว่าอัตราว่างงานของชาวจีนในไตรมาส 1/2022 จะอยู่ที่ 5.8% แต่ในกลุ่มช่วงอายุ 16-24 ปี กลับมีอัตราว่างงานสูงถึง 16% และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 20% ในปีนี้ตามการวิเคราะห์ของ “ทากาโมโตะ ซูซูกิ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของเครือบริษัทมารูเบนิ (Marubeni)

อย่างไรก็ตาม “หลี่ เฉียง” รองประธานของ Zhaopin.com ผู้ให้บริการจัดหางานชั้นนำของจีน ชี้ว่า สถานการณ์นี้ไม่ได้หมายความว่ามีตำแหน่งงานไม่เพียงพอ แต่ตำแหน่งงานที่บัณฑิตจบใหม่ต้องการนั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน

ข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมจีน ระบุว่า ภาคการผลิตของจีนมีความต้องการจ้างงานค่อนข้างสูง รองลงมาคือ ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ขณะที่ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของบัณฑิตจบใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอินเทอร์เน็ตและการสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง วัฒนธรรมและสื่อ รวมถึงธุรกิจการเงิน

ความต้องการที่ไม่สอดคล้องกันดังกล่าวจึงเป็นปัญหาที่อาจทำให้จีนเผชิญแรงกดดันสองด้านคือ การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ขณะที่บัณฑิตจบใหม่จำนวนมหาศาลกลายเป็นผู้ว่างงาน ซึ่งความไม่แน่นอนด้านงานและรายได้ของประชากร อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว และกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว