ออสเตรเลียเปิด “White Paper” แผน 10 ปี ยกระดับการค้าอาเซียน

นโยบายการค้า “ออสเตรเลีย” 10 ปีข้างหน้า ยังคงมุ่งไปที่ตลาดการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะ “อาเซียน” ในฐานะที่ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของออสเตรเลีย ทั้งยังมีข้อตกลง

การค้าร่วมกันภายใต้กรอบ “การค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์” (AANZFTA) ทว่าหลายปีมานี้ ตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างกันกลับไม่ได้ขยับขยายเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การประชุมสุดยอดพิเศษ “อาเซียน-ออสเตรเลีย” ครั้งแรกที่ซิดนีย์ ในปี 2018 เชื่อว่าจะเป็นเวทีเพื่อฟื้นการค้าได้มากขึ้น

ฯพณฯ พอล โรบิลลิอาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อนโยบายต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย พร้อมเปิดรายงาน “สมุดปกขาว” (White Paper) ด้านนโยบายต่างประเทศและการค้า ที่รัฐบาลออสเตรเลียจัดทำขึ้น เพื่อวางโครงสร้างแผนด้านการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลียระยะยาว ถึงปี 2025 เพื่อจะยกระดับประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

เอกสาร White Paper ได้กำหนดประเด็นที่รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาเป็นวาระลำดับต้น ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อประชากรขึ้นมาอยู่ 10 อันดับแรกของโลก (จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 13), ระบบการศึกษาระดับโรงเรียนต้องติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก และมหาวิทยาลัย 10 แห่งของออสเตรเลีย จะต้องถูกจัดอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก และตั้งเป้าติดกลุ่มประเทศที่สะดวกในการทำธุรกิจ  5 อันดับแรกของโลก พร้อมมีนวัตกรรมใน 10 อันดับแรกของโลก ทั้งยังเพิ่มความสำคัญของ “เอเชียศึกษา” ให้เป็นองค์ประกอบหลักของหลักสูตรการเรียนของออสเตรเลียมากขึ้น

รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับอาเซียนมาก และพยายามโน้มน้าวฟื้นกรอบ “การค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์” ให้มีบทบาทยิ่งขึ้น แต่ในปี 2016 ถึงปัจจุบัน พบว่าความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างอาเซียนยังน้อย

โดยอาเซียนให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกัน รวมถึง “อาเซียน+3” (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ที่มีความคึกคักมากสุด ขณะที่ข้อตกลง “อาเซียน+6” ที่รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ยังไม่ได้รับการผลักดันมากนัก

ดังนั้น การประชุมสุดยอดพิเศษครั้งแรก ระหว่าง “อาเซียนและออสเตรเลีย” ที่นครซิดนีย์ เดือนมีนาคม ปี 2018 ถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลออสเตรเลียจะฟื้นการเจรจากระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติกับอาเซียน โดยเฉพาะประเด็นการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงการต่อต้านก่อการร้ายในภูมิภาค ทั้งจะเป็นหัวหอกให้ข้อตกลง AANZFTA มีบทบาทเทียบชั้นกับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นด้วย

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียพร้อมจะเปิดแผนด้านแรงงานใหม่แห่งแปซิฟิก (New Pacific Labour Scheme) ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาปีนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานจากประเทศตามหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ามาทำงานในพื้นที่ชนบทของออสเตรเลียได้ ถือเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจออสเตรเลียที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วย

ทูตโรบิลลิอาร์ดกล่าวว่า “ออสเตรเลียไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเสรี (FTA) แบบรายประเทศ เพราะเป็นอีกหนึ่งทางที่จะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับทั้งภูมิภาค ที่ปีนี้ออสเตรเลียเพิ่งบรรลุความสำเร็จกับเวียดนาม ขณะที่รัฐบาลเวียดนามก็ให้ความสำคัญกับ FTA กับหลายประเทศเช่นกัน ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในดาวเด่นด้านการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยเป้าหมายการเจรจา FTA ออสเตรเลียจะรุกฟื้นสัมพันธ์กับ 3 ประเทศก่อน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย”

นอกจากนี้รายงานยังระบุถึงการให้ความสำคัญกับความร่วมมือ “อินโด-แปซิฟิก” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ ตั้งแต่ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก รวมไปถึงกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวยังมีการผลักดันที่น้อยมาก ขณะที่นักวิเคราะห์เคยกล่าวไว้ว่า ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิกถูกมองว่าเป็นความร่วมมือเพื่อคานอำนาจกับการขยายอิทธิพลจีน ที่กำลังผลักดัน “One Belt One Road” อย่างเต็มสูบ