การตรวจจับและยึดยาบ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุบสถิติใหม่ต่อเนื่องอีก เมื่อปี 2021 แก๊งค้ายายังคงสร้างอัตราการเติบโตต่อเนื่องสิบปี
วันที่ 30 พฤษภาคม วีโอเอ รายงานว่า สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยแพร่รายงานการค้ายาเสพติดฉบับใหม่ สถานการณ์การค้ายาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีมานี้ โดยทำสถิติสูงสุดในแง่การผลิตและการค้าในปี 2021
รายงาน In Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: Latest Development and Challenges ระบุว่า ปี 2021 มีการจับกุมยาบ้ายาบ้าถึง 1,000 ล้านเม็ด เป็นครั้งแรก สูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการจับกุมมา สถิตินี้สูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 7 เท่า ที่มีการจับกุม 143 ล้านเม็ด และมากกว่า 20 ปีที่แล้ว 35 เท่า
สำหรับยาไอซ์ แม้จะยึดได้ลดลงเกือบ 79 ตัน น้อยกว่าปี 2020 ที่จับกุมได้ 82 ตัน แต่ก็ยังเป็นสถิติที่สูงกว่า 8 เท่าของปริมาณที่ยึดได้เมื่อ 10 ปีก่อน
UNODC ระบุว่า ราคายาเสพติดทั้งสองชนิดที่ขายตามท้องถนนลดลง สะท้อนถึงปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น มากกว่าการไล่ตามจับของผู้พิทักษ์กฎหมาย
“พูดกันตรงไปตรงมา ภูมิภาคนี้กำลังลำบากที่จะรับมือกับยาบ้า และยาเสพติดอื่นๆ ก็ลำบากเช่นกัน จำเป็นที่จะต้องปรับนโยบายอย่างถึงรากถึงโคน และหวนสร้างสมดุล ถ้าภูมิภาคนี้ต้องการจัดการกับปัญหายาบ้า หรือหาทางออกให้ได้” นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงาน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวกับวีโอเอ
นายดักลาสกล่าวด้วยว่า องค์กรอาชญากรรมและกลุ่มติดอาวุธ ฉวยโอกาสในช่วงที่เกิดโรคระบาดและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในแถบพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและชายแดนประเทศเมียนมา ขยายการผลิตยาเสพติด
ขณะนี้ แทบไม่มีห้องปฏิบัติการสังเคราะห์ยาเสพติดที่ใดแล้วนอกเหนือจากแถบสามเหลี่ยมทองคำ ที่ยังพบว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขนาดและปริมาณของการค้ายาบ้าและยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงมากจนน่าตกใจ และยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก
UNODC ชี้ชัดว่า สปป.ลาวเป็นจุดถ่ายเทการค้ายาเสพติดจุดใหญ่ที่ส่งเข้ามายังประเทศไทย ประเทศอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้มาเลเซียยังถูกใช้เป็นประเทศทางผ่านของการค้ายาเสพติดเข้าไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ราบงานระบุด้วยว่า ยาไอซ์ขยายจากเมียนมาไปยังฝั่งตะวันตกด้วย โดยขึ้นไปทางเหนือของอินเดีย ตะวันออกตอนกลาง ขณะเดียวกันยังใช้มาเลเซียเป็นจุดขนส่งยาบ้าและยาเค เข้าไปขายตามร้านค้าในกัมพูชา
นายดักลาสกล่าวว่า แก๊งยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียนมีวัตถุดิบการผลิตตามต้องการสำหรับการขยายตลาด และคาดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเจ้าหน้าที่จะปรับเปลี่ยนการปราบปรามให้เข้าถึงต้นตอ ในที่นี้รวมถึงการเข้าไปจัดการในสามเหลี่ยมทองคำและความต้องการของตลาด
ด้าน บีบีซี ไทย รายงานว่า 3 อันดับประเทศในเอเชียตะวันออกและอาเซียนที่จับยาบ้าและยาไอซ์ได้สูงสุด ได้แก่
- ไทย ยาบ้า 592,013,942 เม็ด / ยาไอซ์ 22,126.7 กิโลกรัม
- เมียนมา ยาบ้า 198,188,715 เม็ด / ยาไอซ์13,815.8 กิโลกรัม
- สปป. ลาว ยาบ้า 143,007,700 เม็ด / ยาไอซ์ 2,991 กิโลกรัม
เมื่อรวมการจับกุมทั้งยาไอซ์และยาบ้าในไทย ปี 2021 นับว่ามีปริมาณมากที่สุดในทุกชาติใน 13 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจับยาบ้าได้กว่า 592 ล้านเม็ด และไอซ์อีกกว่า 22,126 กิโลกรัม
ยาบ้าจำนวนมหาศาลถูกผลิตในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางการค้ายาและมีการใช้ยาเสพติดจำนวนมาก โดยพบว่าการค้ายาเสพติดได้กระจายตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนรายงานสถานการณ์ยาเสพติดเฉพาะในประเทศไทย พบว่าในปี 2021 มีปริมาณยาบ้าที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการทะลักเข้ามาจากเมียนมาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน