โอเปกพลัส เคาะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ หลังถูกกดดัน

โอเปกพลัส เคาะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่
REUTERS/Afolabi Sotunde/File Photo

ในที่สุดโอเปกพลัสได้ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากผู้บริโภครายใหญ่ ด้วยการตกลงเพิ่มกำลังผลิตน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูง

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า โอเปกพลัสจะเพิ่มกำลังการจ่ายน้ำมันขึ้นประมาณ 50% หลังได้รับแรงกดดันเป็นเวลาหลายเดือนจากผู้บริโภครายใหญ่ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่พุ่งสูง

แหล่งข่าวเผยว่า บรรดารัฐมนตรีพลังงานกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันได้มีมติเมื่อวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 648,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม จากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีกำลังผลิตน้ำมัน 432,000 บาร์เรลต่อวัน

การเพิ่มกำลังผลิตดังกล่าวจะนำไปจัดสรรกันในหมู่ประเทศสมาชิก ส่วนประเทศที่ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น แองโกลา ไนจีเรีย และล่าสุดคือรัสเซีย จะได้รับการจัดสรรโควตาที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้นจริงนั้นน้อยกว่าตัวเลขที่เป็นทางการ เช่นเดียวกับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

หลังมีรายงานดังกล่าวปรากฏว่า ราคาน้ำมันลดลงในนิวยอร์ก โดยซื้อขายลดลง 0.9% ที่ 114.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 09:23 น. ตามเวลาท้องถิ่น

การเพิ่มกำลังผลิตครั้งนี้ถือเป็นการพลิกฟื้นที่สำคัญสำหรับโอเปกพลัส ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบียที่ยึดมั่นกับแผนการเพิ่มอุปทานรายเดือนอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะเกิดสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนก็ตาม

จนถึงขณะนี้ทางโอเปกพลัสยังคงหลีกเลี่ยงการหารือถึงวิกฤตในยูเครน โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องการตลาด

อุปทานที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโอเปกพลัสอาจมาจากไม่กี่ประเทศเท่านั้น เพราะมีเพียงซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีน้ำมันสำรองจำนวนมาก ขณะที่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้กำลังผลิตตามเป้าหมายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศเผยว่า การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เริ่มรุกรานยูเครน และถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก รวมถึงปัญหาในการขนส่ง และการถูกปฏิเสธจากลูกค้าประจำบางราย ล่าสุด การผลิตน้ำมันของรัสเซียอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของกลุ่มโอเปกพลัสที่วางไว้เมื่อเดือนเมษายน

แรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่สามารถทำอะไรเพื่อควบคุมตลาดน้ำมันได้อีกแล้ว และถึงกับกล่าวว่าไม่มีน้ำมันดิบให้ขาดแคลนแล้ว