โอเปกพลัส คงแผนผลิตน้ำมัน เมินข้อเรียกร้องสหรัฐ

โอเปกพลัสคงแผนผลิตน้ำมัน เมินข้อเรียกร้องสหรัฐ
REUTERS/Ints Kalnins//File Photo

โอเปกพลัสคงมติเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน แม้สหรัฐจะกดดันให้เพิ่มกำลังผลิต สกัดราคาน้ำมันพุ่ง 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย หรือโอเปกพลัส เห็นชอบในที่ประชุมว่าจะคงแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธันวาคม แม้สหรัฐจะเรียกร้องให้ทางกลุ่มเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน

ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโอเปก ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบจากโอเปกพลัส โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวจากโอเปกพลัสกล่าวว่า สหรัฐเองก็มีความสามารถล้นเหลือในการเพิ่มกำลังการผลิตของตนเอง หากสหรัฐฯต้องการช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วขึ้น

ปีนี้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี เหนือระดับ 86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่กลุ่มโอเปกพลัสค่อย ๆ เพิ่มกำลังผลิต และความต้องการน้ำมันเริ่มฟื้นตัว

บรรดาผู้ผลิตน้ำมันต่างกังวลว่าการเพิ่มกำลังผลิตที่เร็วเกินไป อาจกลายเป็นปัญหาของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

อเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม โอเปกได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ให้กับทั่วโลก และจะยังดำเนินการตามแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันอีก 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องทุกเดือน ตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565

“มีสัญญาณบ่งชี้ว่าความต้องการน้ำมันในสหภาพยุโรปลดลงในเดือนตุลาคม ความต้องการน้ำมันทั่วโลกยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากโควิดสายพันธุ์เดลต้า” โนวักกล่าว พร้อมกับอธิบายว่าเหตุใดโอเปกพลัสจึงตัดสินใจไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน

ทั้งนี้ การประชุมรายเดือนครั้งต่อไปของโอเปกพลัส จะจัดขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่กลุ่ม G20 เพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อรับประกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะแข็งแกร่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวของเขาเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐ ที่จะกดดันโอเปกพลัสให้เพิ่มการผลิตน้ำมัน

สหรัฐฯซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และไม่ได้เป็นสมาชิกของโอเปกพลัส มองว่าการผลิตน้ำมันของตนเองลดลงอย่างมากในปี 2563 เมื่อราคาน้ำมันดิ่งลง ผลจากการระบาดของโควิด หลังจากนั้นการผลิตน้ำมันของสหรัฐได้เริ่มฟื้นตัว แต่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก