ผู้นำ 4 ชาติเยือนกรุงเคียฟ แสดงพลังสนับสนุนยูเครน

ผู้นำ 4 ชาติ เยือนกรุงเคียฟ แสดงพลังสนับสนุนยูเครน
Ludovic Marin/Pool via REUTERS

ผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี โรมาเนีย เดินทางเยือนกรุงเคียฟของยูเครน นับเป็นการแสดงสัญลักษณ์อันลึกซึ้งเกี่ยวกับการสนับสนุนยูเครน 

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 วอชิงตันโพสต์ รายงานว่า ผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และโรมาเนีย เดินทางถึงกรุงเคียฟแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวยุโรปให้การสนับสนุนชาวยูเครน พร้อมกับต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย โดยการเดินทางเยือนเมืองหลวงของยูเครนครั้งนี้นับเป็นการเยือนที่ตกเป็นเป้าสาธารณชนมากที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน

ทางการฝรั่งเศสระบุว่า “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, “โอลาฟ ชอลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และ “มาริโอ ดรากี” นายกรัฐมนตรีของอิตาลี ซึ่งเป็นตัวแทนของ 3 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้เดินทางไปยังกรุงเคียฟด้วยรถไฟพิเศษที่ทางการยูเครนจัดหาให้

Filippo Attili/Palazzo Chigi/Handout via REUTERS

“เคลาส์ อิโอฮานิส” ประธานาธิบดีโรมาเนีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน และเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนจำนวนมาก ได้เดินทางมาถึงรถไฟอีกขบวน พร้อมทวีตข้อความเมื่อเดินทางมาถึงว่า “การรุกรานอย่างผิดกฎหมายของรัสเซียต้องยุติได้แล้ว !”

หลังจากลงจากรถไฟ มาครงกล่าวว่า เขาและผู้นำคนอื่น ๆ จะเดินทางเยือนสถานที่ต่าง ๆ ที่ถูกโจมตี

“มันเป็นสารแห่งความสามัคคีของยุโรปที่ส่งถึงชาวยูเครน เป็นการสนับสนุนทั้งในขณะนี้และในอนาคต เนื่องจากหลายสัปดาห์ต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก” มาครงกล่าว

การเยือนดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างกองกำลังรัสเซียบุกโจมตีแถบตะวันออกของภูมิภาคดอนบัส โดยค่อย ๆ เข้ายึดครองพื้นที่ และขับไล่กองกำลังยูเครนที่กำลังร้องขออาวุธจากพันธมิตรตะวันตกอย่างสิ้นหวัง

ไซเรนเตือนภัยการโจมตีทางอากาศดังขึ้น ในขณะที่ผู้นำชาติยุโรปทั้งสี่อยู่ในโรงแรมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนสถานที่ต่าง ๆ และทางการเคียฟได้เตือนประชาชนให้หาที่หลบภัย ทั้งนี้ การแจ้งเตือนลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ระหว่างที่มาครงออกจากโรงแรม เขาได้วางมือไว้บริเวณหัวใจของตัวเอง พร้อมพูดภาษาอังกฤษว่า “ผมต้องการแสดงความชื่นชมต่อชาวยูเครน”

สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนีอ้างคำพูดของชอลซ์ที่กล่าวว่า บรรดาผู้นำกำลังพยายามแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ยังมุ่งมั่นที่จะรักษาความช่วยเหลือทางการเงินและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการจัดหาอาวุธของพวกเขา

ชอลซ์กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนของพวกเขาจะดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีความจำเป็นสำหรับการต่อสู้เพื่อเอกราชของยูเครน

ชอลซ์กล่าวว่า การคว่ำบาตรรัสเซียยังมีความสำคัญ และอาจนำไปสู่การถอนทหารของรัสเซียตามรายงานของดีพีเอ

ผู้นำยุโรปได้พบกับ “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” ประธานาธิบดียูเครน โดยการเยือนของพวกเขาครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้ง เนื่องจากมหาอำนาจยุโรปตะวันตกทั้งสามมักถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ไม่จัดหาอาวุธให้ยูเครนตามจำนวนที่เซเลนสกีร้องขอ รวมถึงกรณีที่พวกเขายังพูดคุยกับ “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย

REUTERS/Valentyn Ogirenko

ผู้นำและประชาชนจำนวนมากในประเทศแถบบอลติกและยุโรปกลาง ซึ่งถูกรัสเซียควบคุมในช่วงสงครามเย็น เชื่อว่าปูตินเข้าใจแต่การใช้กำลัง และมองว่าความพยายามของมาครงและผู้นำคนอื่น ๆ ที่พยายามพูดคุยกับปูตินหลังการรุกรานของเขาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ชาวยูเครนมีความหวังมากขึ้นว่า การเยือนครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนด้วยการเปิดทางไปสู่เสบียงอาวุธใหม่ ๆ

การเยือนดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำสหภาพยุโรปเตรียมที่จะตัดสินใจในวันที่ 23-24 มิถุนายน เกี่ยวกับคำขอของยูเครนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และก่อนการประชุมสุดยอดนาโต้ในวันที่ 29-30 มิถุนายนที่กรุงมาดริด

นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดีรัฐมนตรีกลาโหมของนาโต้ยังประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อชั่งน้ำหนักความช่วยเหลือสำหรับยูเครน ขณะที่เมื่อวันพุธ สหรัฐและเยอรมนีได้ประกาศเพิ่มความช่วยเหลือ ส่วนสหรัฐและพันธมิตรได้จัดหาอาวุธระยะไกล ซึ่งพวกเขาบอกว่าสามารถสร้างความแตกต่างในการสู้รบที่ยูเครนกำลังจะเสียเปรียบให้กับรัสเซีย

ในวันอังคารระหว่างการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน อย่างโรมาเนียและมอลโดวา มาครงกล่าวว่า “ข้อความสนับสนุนจำเป็นต้องถูกส่งไปยังยูเครน ก่อนที่ผู้นำประเทศและรัฐบาลในสหภาพยุโรปจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในการประชุมที่กรุงบรัสเซลส์”

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจน เรา ชาวยุโรป เรา สหภาพยุโรป กำลังมุ่งไปสู่ยูเครนและประชาชนชาวยูเครน” เขากล่าว

มาครงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในความพยายามทางการทูต เพื่อผลักดันให้มีการหยุดยิงในยูเครน ซึ่งจะเปิดทางสู่การเจรจาสันติภาพในอนาคต เขาได้พูดคุยกับเซเลนสกีบ่อยครั้ง และได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ “วลาดีมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซียหลายครั้ง ตั้งแต่ปูตินเริ่มบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

ชอลซ์ซึ่งต่อต้านการเดินทางไปกรุงเคียฟมานานกล่าวว่า เขาไม่ต้องการเข้าร่วมคิวกับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้า-ออกอย่างรวดเร็วเพื่อโอกาสในการถ่ายภาพ เขายังกล่าวด้วยว่าการเดินทางครั้งนี้ควรมุ่งเน้นที่การทำสิ่งที่เป็นรูปธรรม

เมื่อวันพุธเยอรมนีประกาศว่าจะจัดหาระบบจรวดชนิดยิงหลายลูกให้แก่ยูเครน ขณะที่ยูเครนกล่าวว่าจำเป็นต้องป้องกันตนเองจากการรุกรานของรัสเซียอย่างเร่งด่วน