ปรากฏการณ์ ลาออกครั้งใหญ่ กลายเป็น “เทรนด์” แห่งยุคสมัย

ปรากฏการณ์ ลาออกครั้งใหญ่
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

โรคระบาดร้ายแรงในรอบ 100 ปีอย่างโควิด-19 ดูเหมือนจะเปลี่ยนโฉมหน้าอะไรหลาย ๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือตลาดแรงงาน ซึ่งประเด็นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็คือ สภาวะที่เกิดคลื่นการลาออกจากงานครั้งใหญ่ หรือ The great resignation ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิของปีที่แล้ว ภายหลังจากสหรัฐคลายล็อกดาวน์และกลับมาเปิดเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

ตอนที่ต้องล็อกดาวน์เมืองและชัตดาวน์เศรษฐกิจ คนอเมริกันตกงานมหาศาล แต่เมื่อเปิดเศรษฐกิจและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง สถานการณ์พลิกผันตรงกันข้าม เพราะกลายเป็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐค่อนข้างตึงตัวหรือขาดแคลน ตำแหน่งงานที่เปิดรับ มีมากกว่าจำนวนคนที่สมัครงานหรือหางาน อันเนื่องมาจาก The great resignation

ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ปีที่แล้วมีชาวอเมริกันลาออกจากงานโดยสมัครใจถึง 47 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และปรากฏการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ เช่น เดือนมีนาคมและเมษายนมีคนลาออกจากงานเดือนละมากกว่า 4.4 ล้านคน

“แอนโธนี คล็อตซ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน สกูล ออฟ แมเนจเมนต์ ระบุว่า การลาออกครั้งใหญ่ของแรงงานเกี่ยวข้องกับโควิด-19 เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วพวกเขาหมดไฟในการทำงาน ขณะเดียวกัน การต้องทำงานจากบ้านในช่วงการระบาด ทำให้แรงงานมีเวลาในการทบทวนว่าสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของชีวิตคืออะไร สิ่งที่มีค่าคืออะไร อีกทั้งพวกเขาคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน จึงไม่อยากกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ

รายงานของบริษัทที่ปรึกษา คอร์น เฟอร์รี ชี้ว่า การลาออกไม่ได้เกิดจากการได้รับค่าจ้างน้อย แต่เป็นเพราะงานนั้นไม่ได้มีความหมายหรือเติมเต็มความต้องการของพวกเขา อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าเรื่องค่าจ้างเป็นแรงผลักดันสำคัญ เห็นได้จากค่าจ้างรายชั่วโมงเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 6.1% สูงที่สุดในรอบ 25 ปี เพราะความต้องการแรงงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ ผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องแข่งขันกันแย่งชิงตัวพนักงานที่มีความสามารถด้วยการเพิ่มค่าจ้าง

นิก บังเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของเว็บไซต์จัดหางาน INDEED ชี้ว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับเกือบจะมากเป็นประวัติการณ์ บรรดาแรงงานจึงสบโอกาสเปลี่ยนจากงานเดิมไปสู่งานใหม่ที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่า ดังนั้น สาเหตุการลาออกน่าจะเกิดจากการมองเห็นโอกาสใหม่ที่จะทำรายได้สูงกว่าเดิม มากกว่าจะลาออกเพราะหมดไฟ

ปรากฏการณ์ “การลาออกครั้งใหญ่” นำไปสู่การออกซิงเกิล “Break My Soul” ของนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์ “บียอนเซ่” ท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงระบุว่า “ฉันเพิ่งลาออกจากงาน/ฉันจะหาแรงขับเคลื่อนใหม่/งานบ้านี่ทำให้ฉันลำบากเหลือเกิน/ตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปจนเลย 5 โมงเย็น/ทำให้ฉันไม่ได้นอน” ส่งผลให้เพลงนี้ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต top 100 ของ iTune เมื่อเดือนที่แล้ว

แฟน ๆ ของบียอนเซ่ขานรับเพลงนี้อย่างคึกคักผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น “แค่ทำงานไปเพียง 1 ชั่วโมง ฉันก็เข้าใจแล้วว่า ทำไมบียอนเซ่บอกให้ฉันลาออกจากงาน” และ “บียอนเซ่บอกให้ฉันลาออกจากงานประจำแล้วไปเป็นสตรีมเมอร์เต็มเวลา” ส่วนอีกคนดูเหมือนจะเจอทางสองแพร่งหากทำตามบียอนเซ่ จึงทวีตว่า “ถ้าฉันลาออกจากงานตอนนี้ แล้วจะเอาเงินจากที่ไหนไปดูคอนเสิร์ตบียอนเซ่”

นิก บังเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดกระแสลาออกครั้งใหญ่ บรรดาชาวอเมริกันใช้โซเชียลมีเดีย TikTok เป็นเวทีในการลาออกจากงานอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ จนเรียกกันว่า Quit-Toks อีกทั้งยังใช้ฟอรั่มยอดฮิตอย่าง Reddit แชร์เรื่องราวการลาออกของพวกเขา และยังเป็นเวทีในการส่งข้อความลาออกไปถึงนายจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะมันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่พัฒนาไปสู่บรรยากาศทางวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย หรือ zeitgeist ไปแล้ว

“เพลงของบียอนเซ่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความรับรู้หรือการถกเถียงอภิปรายในวงกว้างของสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดแรงงานและสังคม” บังเคอร์กล่าว

ไม่ว่าสาเหตุการลาออกคืออะไร แต่ผลสำรวจชี้ว่า การลาออกจำนวนมากดูเหมือนจะเพิ่มความเครียดและไม่พอใจให้กับพนักงานที่ยังทำงานอยู่ในองค์กรนั้น ๆ เพราะต้องรับภาระมากขึ้น ดังนั้น ก็อาจยิ่งกระตุ้นให้เกิดการลาออกจากงานมากขึ้น หากสภาพตลาดยังเอื้อให้แรงงานมีอำนาจต่อรองเหนือนายจ้าง