มท.ถอยเขตศก.เชียงรายล่ม เอกชนอยากทำหาที่มาเสนอ

ปรับแผน - การประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเชียงรายในพื้นที่ 3 อำเภอถึงวันนี้ผ่านมา 3 ปี รัฐยังไม่สามารถเจรจากับชาวบ้านที่ทำกิน และภาคประชาชนได้ล่าสุดนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าฯเชียงรายคนใหม่บอกว่า กระทรวงมหาดไทยปรับแผนการทำงานใหม่ เอกชนอยากลงทุนต้องหาพื้นที่มาเสนอเอง

มหาดไทยทุบโต๊ะปรับนโยบาย “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเชียงราย” ใหม่ ฟันธงชัดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จะไม่ใช้งบประมาณรัฐซื้อที่ดินของรัฐคืนจากชาวบ้าน ระบุเอกชนสนใจลงทุนต้องจัดหาที่ดินมาเสนอเอง หลังติดปม 3 ปีไม่สามารถเคลียร์ชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่ “ธนารักษ์-ส.ป.ก.-ป่าชุมชน” กว่า 5,000 ไร่ ใน 3 อำเภอ “แม่สาย-เชียงแสน-เชียงของ” ออกได้ แถมชาวบ้านตั้งราคาชดเชยสูงกว่า 5 แสนบาทต่อไร่

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า 3 ปี เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย” จัดโดยสำนักงานจังหวัดเชียงราย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมทีคการ์เดน รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ว่า ตั้งแต่ปี 2557 คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) กำหนดให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวม 21 ตำบล เพราะเห็นถึงศักยภาพที่มีการเชื่อมโยงกับประเทศเมียนมา สปป.ลาว และตลาดจีนที่มีกำลังซื้อมหาศาลและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 3 ปีแล้วพบว่ายังมีปัญหาเรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อการจัดตั้งอยู่

นายประจญกล่าวต่อไปว่า เดิมทางจังหวัดมีแนวทางในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย ด้วยการจัดหาที่ดินมาตามที่กำหนดแล้วเข้าไปพัฒนาถนน ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้าไปลงทุน แต่เมื่อประสบปัญหาเรื่องจัดหาที่ดินไม่ได้ โดย อ.แม่สาย มีกลุ่มผู้ปลูกใบยาสูบของโรงงานยาสูบที่ยังขอใช้ประโยชน์อยู่ ส่วน อ.เชียงแสน มีชาวบ้านที่ทำกินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ อ.เชียงของ บางส่วนเป็นป่าชุมชนและบางส่วนเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่ชาวบ้านทำกิน โดยบางพื้นที่เรียกค่าชดเชยสูงถึงไร่ละกว่า 500,000 บาท ซึ่งจากนโยบายใหม่ รัฐจะไม่ใช้งบประมาณไปจัดซื้อที่ดินของรัฐเอง แต่เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนจึงมีแนวทางให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าไปลงทุนจัดหาที่ดินเอง

“ล่าสุดเข้าไปประชุมที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบนโยบายใหม่ในการจัดตั้งว่าให้เป็นไปตามกลไกของเศรษฐกิจ โดยภาคเอกชนสามารถเสนอที่ดินของตัวเองเพื่อจะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอดังกล่าวได้เอง แล้วจังหวัดจะพิจารณาเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเสนอเข้าไปกี่ไร่ ในช่วงนี้ที่ยังไม่มีสถานที่ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนในเขตที่ประกาศได้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ฯลฯ และหากยังเห็นว่าไม่เพียงพอสามารถยื่นขอเพิ่มเติมอีกได้” นายประจญกล่าวและว่า

สำหรับแนวนโยบายใหม่นั้น หากว่าการจัดตั้งจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ทั้งนี้แนวทางใหม่ดังกล่าวจะขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นเพื่อให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจ จ.เชียงราย มีความชัดเจนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป เพราะตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งปลายปีงบประมาณ 2561 จึงทำได้เพียงสานต่อแนวทางเดิม ๆ ไป

สำหรับกรณีที่มีภาคเอกชนรายหนึ่งเคยพยายามเข้าไปหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนั้น คงแนะนำให้ปรับมาใช้แนวทางใหม่นี้ เพราะทาง กนพ.แจ้งว่าหากว่าไม่สามารถจัดตั้งในพื้นที่เดิมที่เคยพยายามหากันได้ ให้ย้ายไปหาสถานที่ใหม่ได้ต่อไป

รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า ในปี 2557-2560 มีเอกชนจดทะเบียนจัดตั้งกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย ทั้ง 3 อำเภอรวมกันจำนวน 755 ราย รวมเงินทุนกับกิจการเดิมที่จดทะเบียนอยู่แล้วมูลค่า 3,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดย่อมกว่า 99% และกิจการที่ลงทุนมากที่สุด คือ ก่อสร้างอาคาร ขายส่งสินค้า อสังหาริมทรัพย์ ขนส่งสินค้า ขายส่งสินค้าเกษตร ฯลฯ

ขณะที่ทางบีโอไอประชาสัมพันธ์ให้นักธุรกิจทราบถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่จะได้รับหลายอย่าง เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงินไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ลดหย่อนภาษีจากกำไรร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจำเป็นเพื่อการส่งออกเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามที่บีโอไอกำหนด ฯลฯ

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.เชียงราย ได้รับการประกาศให้ดำเนินการเป็นระยะที่ 2 พร้อมกับ จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จ.เชียงรายได้กำหนดให้ศึกษาเพื่อจัดตั้งในเขต อ.แม่สาย ตรงที่ดินของกรมธนารักษ์ ติดถนนพหลโยธินสายแม่สาย-เชียงราย บ้านน้ำจำ ต.โป่งผา อ.แม่สาย เนื้อที่ 870 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา อ.เชียงแสน เป็นที่ดินปฏิรูปใกล้ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว เนื้อที่ 651 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา และ อ.เชียงของ เป็นป่าชุมชนเขต ต.บุญเรือง เนื้อที่ประมาณ 2,322 ไร่ และทุ่งเลี้ยงสัตว์ บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน เนื้อที่ประมาณ 530 ไร่