รื้อ กม.สางหนี้-พัฒนาครู งานด่วน “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ”

ครบ 1 เดือน ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนล่าสุด “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่ได้แอบลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนในต่างจังหวัด เพื่อให้เห็น “ภาพจริง” ของการศึกษาไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร ตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนเพียง 20 คน ไปจนถึงโรงเรียนที่มีนักเรียนกว่า 3,000 คน พร้อมทั้งนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ และส่งสัญญาณถึงครูกว่า 1,500 คน ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ในการประชุมเชิงวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2562 เรื่อง ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต : Future Teacher For Future Learners เนื่องจากการศึกษาของไทยอยู่ท่ามกลางความท้าทายของสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี และการแข่งขันของโลกที่รุนแรง รวดเร็ว อันตรายและมองไม่เห็น

“ครู” คือ กลไกสำคัญที่จะช่วยกันยกระดับการศึกษาไทย ฉะนั้น ต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูก่อน นายณัฏฐพลตอกย้ำบนเวทีถึงความสำคัญของครูว่า แม้แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวในทุกครั้ง และในทุกเวทีที่ไปว่า การศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่ “สำคัญที่สุด” ในขณะนี้ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา หากปล่อยให้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำงานเท่านั้น อาจจะทำให้ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “นักเรียนแห่งอนาคต” หากครูไม่มีศักยภาพ ในอีก 15 ปีข้างหน้า ใครจะทำหน้าที่แบกรับ “สังคมผู้สูงวัย” ที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นได้อย่างไร วัยทำงานที่จะต้องเสียภาษีส่งให้ภาครัฐจะแบกภาระเหล่านี้ได้หรือไม่ และหากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นคือ นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลที่ยังลดลงต่อเนื่องนั้น หากการศึกษาพื้นฐานไม่มีความแข็งแกร่ง เด็กเหล่านี้จะไม่สามารถแบกรับภาระของคนรุ่นเก่าได้

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา “ณัฏฐพล” ยังได้ลงสำรวจโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดแล้วพบว่า ครูส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนอย่างตั้งใจจริง ในขณะเดียวกัน นักเรียนก็พร้อมเปิดรับความรู้จากครูด้วยเช่นกัน หากมองถึงความสามารถของเด็กไทยก็ไม่แพ้ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นหากจะพัฒนาประเทศก็ต้องพัฒนากันตั้งแต่ฐานรากการศึกษาในทุกพื้นที่ให้มีความเท่าเทียมกัน รวมไปถึงการวางหลักสูตรการเรียนการสอนก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายด้วย

มาถึงสิ่งที่นายณัฏฐพลระบุว่า สิ่งที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาไทย “ช้ามาก” และต้องดำเนินการแก้ไขนั้น สรุปได้ว่า 1) การใช้เวลาของครูนอกห้องเรียน ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน 2) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประกาศใช้มานาน ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนา และถือเป็นประเด็นที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง 3) นโยบายด้านการศึกษาที่ไม่เห็นภาพได้ชัด ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติอย่างครูยังเข้าไม่ถึงเส้นทางที่ควรจะเดินหน้าพัฒนา 4) การใช้คนให้เหมาะสมกับงาน

5) ปัญหาด้านวิทยฐานะของครู 6) ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับภาระหน้าที่ของครูที่เพิ่มขึ้น 7) การแก้ไขปัญหาที่ไม่มีกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน 8) หนี้สินของครู ที่ยังไม่สามารถสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ 9) การนำการศึกษาไปเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมไปจนถึงการขัดแย้งภายในองค์กร

“เมื่อเข้ามาเป็นครูแล้วต้องมองถึงอนาคต มันเป็นมาตรฐานทั่วไปของการทำงาน และควรให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมต่องานนั้น ๆ ตอนนี้ปัญหาของการศึกษาทุกอย่างพัวพันกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิทยฐานะ ค่าตอบแทนหรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ จะเข้ามาดูจริงจังมากขึ้น เพราะหากไม่ทำ เราก็จะวนเวียนอยู่กับกระบวนการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ครูต้องช่วยกันนำเสนอแนวทาง หรือรายละเอียดอื่นที่ยังขัดกับกฎ กติกาต่าง ๆ ที่ทำให้แก้ไขไม่ได้ สุดท้ายแล้วคือไม่ขยับอะไรเลย แม้แต่รัฐมนตรีว่าการอย่างผม หากยังแก้ไขอะไรไม่ได้ก็ต้องพิจารณาตัวเองด้วยเหมือนกัน”

เมื่อมองถึงภารกิจที่ต้อง “เร่งรัด” เช่น ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น “ณัฏฐพล” ระบุว่า อินเทอร์เน็ตถือเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ของนักเรียน และถือเป็นแขน-ขาให้กับครูในการหาข้อมูลเพื่อส่งต่อความรู้ต่าง ๆ ไปยังนักเรียนด้วย แต่กลับพบว่าระบบอินเทอร์เน็ตในหลายโรงเรียนครอบคลุมการใช้งานแค่ในระดับผู้อำนวยการเท่านั้น ในขณะที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์กลับไม่มีให้นักเรียนได้ใช้หาข้อมูลประกอบการเรียน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และการจัดสรรงบประมาณที่ได้มาแล้วกว่า 500,000 ล้านบาท จะไม่มีการของบประมาณเพิ่ม แต่อาจต้องลดทอนการใช้งบประมาณอื่นที่ยังไม่มีความจำเป็นมาก อย่างเช่น หากใช้งบประมาณไปกับการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดแล้วนั้น อาจจะต้องลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาประชุม รวมถึงกรณีที่ต้องนำครูออกมาทำงานนอกเวลาและนอกพื้นที่ ต้องมองถึง 2 เรื่อง ความคุ้มค่าและประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับเป็นอย่างไร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังชี้ให้เห็นภาพของอนาคต ที่โลกอาจจะถูกครอบคลุมด้วยเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) ว่า มีหลายอาชีพที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์แทนได้ ฉะนั้นในแง่ของการศึกษา ต้องสร้างคนให้ “คุมคอมพิวเตอร์” ทั้งนี้ สิ่งที่คนแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ คือ ตรรกะทางความคิด นั่นหมายถึงว่า มนุษย์ยังมีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการศึกษา ต้องวางเป้าหมายของการพัฒนาว่า จะไปถึงจุดหมายอย่างไรโดยใช้เวลาอันสั้น และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันที่โลกเปลี่ยนจะต้องพลิกตัวไปทำอย่างอื่นได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าพลิกแต่ไม่ได้มีความแตกต่างกันก็ไม่ได้ ต้องคิดให้ได้ว่า เราจะผสมผสานสิ่งที่เรามีได้อย่างไร เหล่านี้คือขั้นตอนการเตรียมอนาคตของชาติ เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21