เทวินทร์ วงศ์วานิช InnoSpace ลุยปั้น Unicorn Startup

ภาพการลงขันระดมทุนของ 13 องค์กรพันธมิตร ทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการเงินรวมมูลค่า515 ล้านบาท ให้ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางปลุกปั้นนักรบพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกว่า “startup” ขึ้นมา ถือเป็นสัญญาณการเริ่มนับ 1 ที่มีเป้าหมายต้องการให้ startup 300 รายถูกดันขึ้นเป็น unicorn ภายใน 1 ปี ซึ่งจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเป็นรากฐานของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และคือส่วนหนึ่งของทุกสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรม deep technology “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายเทวินทร์ วงศ์วานิช” ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงการเดินหน้านับจากนี้

จุดเริ่มต้นอินโนสเปซ

ปลายปี 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมมองว่ากลุ่ม startup สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญกับเศรษฐกิจ สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ในเดือน มิ.ย. 2562 จึงจัดตั้งบริษัทขึ้นมาและสร้างเป็นแพลตฟอร์มกลาง ในชื่อ “อินโนสเปซ(ประเทศไทย) ทำหน้าที่สร้างและพัฒนาstartup เชื่อมโยงสู่เวทีโลกซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เป้าหมายสำคัญคือการดึง startup ที่มีศักยภาพมาพัฒนาอบรม โดยมีพาร์ตเนอร์ที่เก่งจากต่างประเทศมาช่วย ซึ่งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC), Ho & Partners Architects Engineers & Development Consultants Limited (HPA) และ Hong Kong Cyberport เพื่อช่วยบ่มเพาะธุรกิจ startup ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและ startup ของอาเซียน และไปจนถึงขั้นเป็น unicorn หรือ startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แผนการปั้น Startup

การทำงานของบริษัท เน้นการเชื่อมโยงกิจกรรมของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาที่สนับสนุน startup ให้เกิดการบูรณาการ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เติมส่วนที่ขาด โดยไม่ทับซ้อนกับกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานของนวัตกรรม ยกระดับ startup ไทยให้ถึงระดับ unicorn และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Thailand 4.0

ซึ่งจะใช้สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง เป็นศูนย์ฝึกอบรมและบมเพาะ startup ขณะที่สำนักงานที่ตั้งของบริษัทคาดว่าจะใช้โรงงานยาสูบเดิม (คลองเตย) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา

ภายใน 1-2 เดือน จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด 12-15 คน ประกอบไปด้วย คณะกรรมการด้านการบริหาร และคณะกรรมการด้านการลงทุน เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและหลักเกณฑ์การคัดเลือก startup โดยผู้ร่วมลงทุนจะส่งตัวแทนเข้ามา 1 บริษัท/1 คน เพื่อเข้ามาเป็นคณะกรรมการ และยังจะทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือกและสรรหาประธานกรรมการ (CEO) ซึ่งจะเป็นบุคคลภายนอกเข้ามา

สเตปต่อไปเชื่อมโยงพันธมิตร

การจับมือกับพาร์ตเนอร์นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ พาร์ตเนอร์ด้านการลงทุนรวมกว่า 515 ล้านบาท 13 องค์กร เช่น ปตท., กรุงเทพดุสิตเวชการ, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, เครือเจริญโภคภัณฑ์, ทรู คอร์ปอเรชั่น, ไทยเบฟเวอเรจ, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เครือสหพัฒน์, การบินกรุงเทพ ฯลฯ มาร่วมกันในระยะแรก จากนั้นในระยะที่ 2 พาร์ตเนอร์รายอื่นจะระดมทุนให้เม็ดเงินได้ถึง 700 ล้านบาท ในเฟส 2 ได้เจรจากับ 5-6 ราย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 100 ล้านบาท

อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารออมสิน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฯลฯ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเงินจากการระดมทุน 25% ของวงเงินทั้งหมด หรือ 100 ล้านบาทเพิ่มเข้ามาในทุนจดทะเบียน

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศรายใหญ่ที่จะมาช่วยเสริม เช่น หัวเว่ย ซัมซุง กูเกิล ไมโครซอฟท์ รวมถึงความร่วมมือกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ตอัพของอิสราเอลซึ่งมีจุดเด่นเรื่อง deep tech ตั้งเป้าให้เกิดความร่วมมือสร้าง startup กลุ่ม deep tech กับผู้ประกอบการไทยใน 5 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ, การเกษตร, อาหาร, การแพทย์ และ internet of things (IOT) จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของกลุ่ม SMEs ไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

โดยจะบ่มเพาะผู้ประกอบการตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นธุรกิจ ไปจนถึงสร้างให้เป็น unicorn ดังนั้นภาครัฐจะผลักดันให้เอกชนไทยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพกลุ่ม deep tech ในประเทศไทยมากขึ้น จากปัจจุบัน 90% ลงทุนในต่างประเทศ และ 10% ลงทุนในไทย

ส่วนความร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง KOTRA หน่วยงานดูแลการค้าต่างประเทศ และ KTS หน่วยงานสร้างสตาร์ตอัพของเกาหลีใต้ คาดว่าจะเชื่อมโยงสตาร์ตอัพเกาหลีใต้ที่ทำธุรกิจในประเทศไทย 15 ราย กับสตาร์ตอัพไทยเพื่อเปิดตลาดการลงทุนระหว่างกัน

เป้าหมายเพิ่ม Unicorn

จะเห็นว่าปัจจุบันไทยมี startup ประมาณ 1,000 ราย ซึ่งประสบความสำเร็จมีเพียงแค่ประมาณ 100 รายเท่านั้น ภารกิจจากนี้ไปอินโนสเปซตั้งเป้าหมายสร้าง startup ให้เป็น 10-100 เท่า

เพราะการหวังจะให้เกิด startup ที่เป็น unicornไทยจึงต้องเพิ่มจำนวน startup ที่มีคุณภาพไปสู่สากลให้มากขึ้น จากเวลานี้ประสบปัญหาด้านการตลาด ฐานลูกค้าแคบ จึงจำเป็นต้องจับมือกับต่างประเทศเช่น ฮ่องกง เกาหลี จีน อิสราเอล และญี่ปุ่น