รู้จัก วันสารทไทย หรือ ชิงเปรต ประเพณีบุญสำคัญของภาคใต้

รู้จักวันสารทไทย หรือ
ภาพจาก ข่าวสด

ทำความรู้จักวันสารทไทย หรือประเพณีชิงเปรต งานบุญสำคัญของภาคใต้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ “เปรต” ที่มาจากนรก

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันสารทไทย หรือประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อ “ชิงเปรต” จัดขึ้นช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ของทุกปี

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของภาคใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้กลายเป็น เปรต

โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 (วันรับเปรต) เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (วันส่งเปรต)

ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรม ของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้ว จะตรงกับเดือนกันยายน

การปฏิบัติพิธี

ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท และขนมอื่น ๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ในวันงานชาวบ้านจัดแจงนำข้าวปลาอาหารและข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ทายก ทายิกาไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่น ไปฝากซึ่งกันและกัน ยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกล หรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน

บางท้องถิ่นทำขนม สำหรับบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ การปฏิบัติพิธีกรรมการทำบุญสารทเดือนสิบ มี 3 ขั้นตอน คือ

1. การจัดหมฺรับและยกหมฺรับ

การจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้จัดหมฺรับ เริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ วันนี้เรียกกันว่า “วันจ่าย” ตลาดต่าง ๆ จึงคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนชาวบ้าน จะซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมไว้สำหรับใส่หมฺรับ และ สำหรับนำไปมอบให้ผู้ใหญ่ ที่ตนเคารพนับถือ

การจัดหมฺรับ มักจะจัดเฉพาะครอบครัว หรือจัดรวมกันในหมู่ญาติ และจัดเป็นกลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมฺรับ ใช้กระบุง หรือ เข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่ ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของหมฺรับ ปัจจุบันใช้ภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ การจัดหมฺรับ คือการบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบ ฯลฯ ลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้ ซึ่งหมุรับถือเป็นหัวใจของประเพณีนี้

ความหมายของขนมเดือนสิบ

  • ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน เรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้น แผ่ดังแพ มีน้ำหนักเบา ย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้
  • ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลา มีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้
  • ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทน ลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่น ต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้า มีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน
  • ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทน เงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย เหตุเพราะรูปทรงของขนม คล้ายเบี้ยหอย
  • ขนมกง (ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทน เครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะ คล้ายกำไล แหวน

การปฏิบัติตามประเพณีสารทเดือนสิบ

ช่องของการทำบุญเดือนสิบ จะมีวันที่ถูกกำหนดเพื่อดำเนินการเรื่องหฺมฺรับอยู่หลายวัน และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ วันหฺมฺรับเล็ก ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับอนุญาต ให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งลูกหลานจะจัดสำรับ อาหารคาวหวาน ไปทำบุญที่วัด เป็นการต้อนรับ บางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย”

  • วันจ่าย

ตรงกับวันแรม 13 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่คนนคร ต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ

  • วันยกหฺมฺรับ

ตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคน บ้านไกล้เรือนเคียง ไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้

2. การฉลองหมฺรับและการบังสุกุล

วันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทเรียกว่า “วันหลองหมฺรับ” มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่ได้กระทำพิธีกรรมในวันนี้่ บรรพบุรุษพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่ได้รับส่วนกุศล ทำให้เกิดทุกขเวทนาด้วยความอดอยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูไป

3. การตั้งเปรตและการชิงเปรต

เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้วก็นิยมนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ ตามบริเวณวัด โคนไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัด เรียกว่า “ตั้งเปรต” เป็นการแผ่ส่วนกุศล ให้เป็นสาธารณทาน แก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญได้ บางวัดนิยมสร้างร้านขึ้น เพื่อสะดวกแก่ตั้งเปรต เรียกว่า “หลาเปรต” (ศาลาเปรต) เมื่อตั้งขนม ผลไม้ และและเงินทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้ว มาผูกเพื่อแผ่ส่วนกุศลด้วย

เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ก็จะเก็บสายสิญจน์ การชิงเปรตจะเริ่มหลังจากตั้งเปรตเสร็จแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า “ชิงเปรต” ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก เพราะความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว วัดบางแห่งสร้างหลาเปรตไว้สูง โดยมีเสาเพียงเสาเดียว เสานี้เกลาจนลื่นและชโลมด้วยน้ำมัน

เมื่อถึงเวลาชิงเปรต เด็ก ๆ แย่งกันปีนขึ้นไป หลายคนตกลงมาเพราะเสาลื่น และอาจถูกคนอื่นดึงขาพลัดตกลงมา กว่าจะมีผู้ชนะการปีนไปถึงหลาเปรต ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก จึงมีทั้งความสนุกสนาน และความตื่นเต้น ในการทำบุญสารทเดือนสิบ ลูกหลานจะทำขนม หรืออาหารนำไปวางในที่ต่าง ๆของวัด ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป และริมกำแพงวัด หรือใต้ต้นไม้

สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ หรือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้ พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้ เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม และอาหารกันที่เรียกว่า “ชิงเปรต” การชิงเปรต เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น หลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต


โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน