DITP เดินหน้าส่งเสริมตราสัญลักษณ์ “Thai SELECT” ในตลาดโลก

“Thai SELECT” เป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและธุรกิจบริการอาหารของไทย ให้สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของอาหารไทยแท้ โดยมี “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” หรือ DITP ดำเนินกิจกรรมคัดเลือกผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปเพื่อมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

“Thai SELECT” เครื่องหมายมาตรฐานร้านอาหารไทยในต่างแดน

ณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความเป็นมาของตราสัญลักษณ์ “Thai SELECT” ว่า เริ่มต้นในปี 2541 เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่มีความเป็นไทยแท้ ทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และวิธีการปรุง บรรยากาศการตกแต่งที่สัมผัสได้ถึงความเป็นไทย ขณะเดียวกันก็ได้มาตรฐานการบริการ การดูแลความสะอาดที่ถูกสุขอนามัยและอื่น ๆ ตามข้อบังคับของแต่ละเมือง โดยให้ตราสัญลักษณ์นี้เป็นเสมือนเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเพื่อผู้บริโภครับรู้อย่างชัดเจน

ประเภทของร้านอาหาร Thai Select ในช่วงแรกเริ่มจะมีเพียง Thai SELECT Premium มอบให้ร้านอาหารไทยคุณภาพยอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว กับ Thai SELECT ร้านอาหารที่ได้มาตรฐานระดับ 3-4 ดาว แต่ด้วยอาหารไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบ ทำให้มีร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด รวมทั้งฟู้ดทรักเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนประเภทของ Thai SELECT ให้ทันสมัยสอดคล้องกับโลกยุคใหม่”

ปัจจุบัน ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ มี 3 ประเภท ได้แก่ “Thai SELECT Signature” สำหรับร้านที่มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์และเอกลักษณ์อาหารไทย ตกแต่งร้านสวยงาม มีบริการที่เป็นเลิศ ประเภทที่สอง “Thai SELECT Classic” ร้านที่ให้บริการอาหารรสชาติตามมาตรฐานอาหารไทยทั่วไป และประเภทที่สาม “Thai SELECT Casual” ร้านที่มีขนาดเล็กและมีข้อจำกัดด้านการบริการ เช่น จำนวนโต๊ะจำกัด ซื้อแล้วต้องไปหาที่นั่งข้างนอก แต่ก็มีบรรยากาศความเก๋ทันสมัย หรืออาจเป็น Food Truck หรือร้านอาหารไทยประเภท street food 

Advertisment

จากร้านสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ปรุงอาหารไทยได้ทุกที่ทุกเวลา

เมื่ออาหารไทยเป็นที่ติดอกติดใจของคนทั่วโลกมากขึ้น รวมถึงบางเมนูที่มีความยุ่งยากในการเตรียมเครื่องปรุง อย่างเช่นต้องโขลกพริก แม้แต่ส่วนประกอบที่จำเพาะเจาะจงเป็นผักบางชนิดเท่านั้น ทำให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศบางครั้งไม่สามารถหาวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้ได้มาตรฐานสำรับไทย บวกกับมีผู้ประกอบการที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสำเร็จรูป หรือเป็นเครื่องปรุงที่เพียงเติมเนื้อสัตว์กับผักลงไปก็สามารถรับประทานได้ทันที เป็นผู้ช่วยสำหรับร้านอาหารรวมถึงคนที่นิยมทำอาหารกินเองในบ้านได้เป็นอย่างดี

Advertisment

ในปี 2555 DITP จึงได้ขยายการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป เครื่องแกงสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่มีรสชาติไทยแท้ ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการปรุงอาหารด้วยส่วนผสมตามตำรับอาหารไทย และได้รับมาตรฐานการส่งออกในระดับสากล โดยจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรมการหลายภาคส่วน เช่น สถาบันอาหาร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เป็นการการันตีให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้มั่นใจถึงคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ว่ามีรสชาติตามต้นตำรับอาหารไทยอย่างแน่นอน”

รองอธิบดี DITP เผยถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 712 รายการ จาก 74 บริษัท ประกอบไปด้วยอาหารไทยสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ทั้งอาหารคาวหวาน เครื่องแกง และเครื่องปรุงรสสำหรับอาหารไทย โดยสิทธิประโยชน์ของการได้ Thai SELECT อาทิ ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ DITP ทั้งในและต่างประเทศ โอกาสในการเจรจาการค้า พร้อมกับการแนะนำสินค้าสำหรับให้ผู้ซื้อ-ผู้นำเข้าในประเทศต่าง ๆ ได้รับการโปรโมทในงานแสดงสินค้าอาหารและงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลายทั่วโลก

ตราสัญลักษณ์ประกาศศักยภาพอาหารไทยสู่ตลาดโลก

ในปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้ Thai SELECT ทั้งหมดจำนวน 1,600 ร้าน ในอเมริกามีมากที่สุด 534 ร้าน (ตัวเลข ณ เดือนเมษายน 2566) เนื่องจากมีจำนวนประชากรเยอะ รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมอาหารไทย อันดับสองคือเอเชีย จำนวน 442 ร้าน อันดับสามยุโรป จำนวน 380 ร้าน

เมื่อรวมกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งมีการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และส่งเสริมให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศนำมาใช้เป็นเครื่องปรุง จึงถือเป็นช่องทางสำคัญของการขยายตลาดการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องปรุงรสของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ณัฐิยาเผยถึงความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงของตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่า เนื่องจากไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะรสชาติเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ประกอบ เช่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ รวมถึงความสะอาด กรรมวิธีการทำที่ถูกต้อง มีการปรับประเภทตราสัญลักษณ์ให้ทันสมัย

รวมถึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกที่เกี่ยวกับอาหาร หรือโปรโมทผลไม้กับอาหารไทยของร้านที่ได้ Thai SELECT โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ 58 สำนักงานทั่วโลกได้ออกแบบและจัดกิจกรรมที่เข้ากับแต่ละประเทศ ทำให้ Thai SELECT เปรียบเหมือนแพลตฟอร์มส่งเสริมอาหารไทยและวัตถุดิบอาหารไทยไปยังผู้บริโภคทั่วโลก

“DITP จัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารอย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ใช่กิจกรรมใหญ่แต่จัดในทุกประเทศ นอกจากการโปรโมตร้านอาหาร Thai SELECT แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือเป็นกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยด้วยความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์และเชฟที่มีชื่อเสียงของร้าน Thai SELECT”

เดินหน้าผลักดัน Soft Power อาหารไทย

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการส่งออกอาหารไทยมาจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่เข้าไปดูแลสนับสนุนการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีอีกนโยบายสำคัญคือ การส่งเสริม Soft Power  อาหารไทย จากก่อนหน้านี้ที่มีเมนูต้มยำกุ้ง ผัดไทย ส้มตำ แกงเขียวหวาน และแกงมัสมั่น ถูกจัดอันดับให้เป็นอาหารที่มีรสชาติถูกปากผู้คนทั่วโลกอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักอาหารไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการของไทยเพิ่มขึ้น โดยมี DITP ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

จากกระแส Soft Power อาหารไทย ตั้งแต่ ลิซ่า BlackPink กับศิลปินแร็ป มิลลิ ก็อาจจะต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันผลักดันให้อาหารไทยเป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดย DITP จะให้อิสระกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ต้องพิจารณาว่าในประเทศนั้นมีความนิยมอาหารประเภทไหน”

เปิดพาวิลเลียนโชว์ศักยภาพอาหารไทยในงาน THAIFEX

ในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาคเอเชีย “THAIFEX-ANUGA ASIA 2023″ ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี DITP ได้จัดโซนพิเศษ “Thai SELECT Pavilian” บริเวณฮอลล์ 9 โชว์ศักยภาพผู้ประกอบการไทย ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป สามารถก้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมตั้งเป้าผลักดันตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและขยายตลาดอาหารไทยในต่างประเทศ

มีการคัดสรรผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาจัดแสดงกว่า 500 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ซอสปรุงสำเร็จของบริษัท ไทยอารีย์ ฟู้ดแอนด์เฟรนด์ จำกัด ข้าวซอยไก่สำเร็จรูปของบริษัท อารี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปลาสลิดผัดปรุงรสของบริษัท ปลาสลิดพอดีคำ จำกัด น้ำจิ้มซีฟู้ดฟรีซดรายของบริษัท แซ่บจี๊ด จำกัด และผัดไทยโคราช ของ บริษัท ออร่าฟู๊ด จำกัด ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการมอบเกียรติบัตรให้ผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปที่ผ่านการคัดเลือกให้ใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ประจำปี 2566 จำนวน 249 ผลิตภัณฑ์ จาก 34 บริษัท เช่น บริษัท บลูสไปซ์ จำกัด, บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด, บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด, บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด, หจก.บลูโอโน่ (ประเทศไทย) เป็นต้น

ตลอดทั้ง 5 วันมีกิจกรรมเป็นต้นว่า จัดนิทรรศการ Thai SELECT แนะนำความเป็นมาของโครงการ หลักเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้ขอรับตราสัญลักษณ์ ประเภท และสิทธิประโยชน์ของตราสัญลักษณ์ นิทรรศการของผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาและบ่มเพาะภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูปสู่ตลาดโลก หรือ Thai SELECT Apprentices Program (T-SAPP) ซึ่งมีการจัดแสดงสินค้าอาหารไทยสำเร็จรูปที่ผ่านโครงการนี้จำนวน 15 บริษัท รวมถึงกิจกรรมสาธิตการทำอาหารไทยจากผลิตภัณฑ์ Thai SELECT โดยเชฟชื่อดังจากรายการมาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย เป็นต้น