จับตา เอลนีโญ เขย่าตลาดหุ้นปลายปี 2023

โดย..บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ประกาศเตือนว่า ในปี 2023  ปรากฏการณ์เอลนีโญเตรียมจะเข้าสู่อาเซียนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยก่อให้เกิดความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นต่อตลาดหุ้น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ของโลกหลายแห่งคาดว่าไทยรวมถึงประเทศต่างๆในอาเซียนน่าจะแล้งหนัก และเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงอาจประสบกับสถานการณ์หมอกควันข้ามพรมแดน จากไฟป่าอาเซียน

โดยปกติแล้ว ในมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีกระแสลมหรือเรียกว่าลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจาก ด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกหรือบริเวณแถบทวีปอเมริกาใต้ ไปยังด้านตะวันตกของ มหาสมุทรแปซิฟิกหรือบริเวณพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกระแสน้ำอุ่นจะไหลไป ในทิศทางแบบลักษณะเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงกลางปีของทุกปี

ที่มา : GISDA
ที่มา : GISDA

อย่างไรก็ดี ด้วยปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา จะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่กล่าวมานั้น เกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่า จะทำให้อุณหภูมิในไทยอาจเพิ่มสูงกว่าระดับปกติ และอาจเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เคยมีฝนตกชุกนั้น อาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งแบบฉับพลัน รวมถึงอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นแบบเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผ่าน ‘ภัยแล้งจากภาคเกษตรกรรม’  โดยแม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย ผ่านผลผลิตภาคการเกษตรที่ตกต่ำ แม้ว่าสินค้าในภาคการเกษตรกรรม คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ตาม ทว่าจากประมาณการ ของรายงานจาก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จะพบว่าจำนวนการจ้างงานของ ภาคเกษตรกรรมคิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตจีดีพีไทยที่ลดลง รวมถึงยังทำให้ระดับ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยสูงขึ้นด้วย 

จากการใช้แบบจำลองผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคของ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ผลลัพธ์ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ลานีญา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ มีความรุนแรงมากกว่า โดยที่พื้นที่ของภูมิภาคร้อนชื้น จะมีผลกระทบกระทบดังกล่าวด้วยขนาดที่มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ ประเทศไทย หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น จะพบว่าในมิติอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง ด้านผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

โดย ณ Q4 2023:  จากการศึกษาดังกล่าว คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนี โญ จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลง 0.65% ในปีแรก และลดลง 1.1% ในปีที่สอง ส่วนอัตราเงินเฟ้อเงินเฟ้อของไทย น่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% จากคาดการณ์เดิม

โดยหลังจากนั้น จะกลับมาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจปกติหลังจากผ่านไปเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์เอลนีโญที่กินระยะเวลายาวนานมากกว่าปกติเมื่อเทียบกับในอดีต ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เนื่องจากภาวะความไม่สมดุลของกระแสลมการค้าและกระแสน้ำอุ่น อยู่ในระดับที่สูงมากในปีนี้

จากสมมติฐานดังกล่าว น่าจะทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มได้อีก 25 bp เป็นส่วนเพิ่มพิเศษจากที่จะขึ้นอีก 1-2 ครั้งอยู่แล้วในปีนี้ โดยจากอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงกนง.ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม 1 ครั้ง จากเอลนีโญ เราประเมินว่าค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยน่าจะลดลง 2% หรือ ลดลงจาก 15.6 ในปัจจุบัน ตามประมาณการของ Bloomberg เป็น 15.3 ด้านค่า EPS น่าจะลดลง 1% หรือ ลดลงจาก 96.4 ในปัจจุบัน ตามประมาณการของ Bloomberg เป็น 95.5 โดยดัชนี SET เป้าหมาย สำหรับเหตุการณ์เอลนีโญ ณ Q4 2023 ระยะเวลา12 เดือนข้างหน้า เท่ากับ 1,450

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นรายเซกเตอร์ ตลาดหุ้นไทย จากปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น

เซกเตอร์แบงก์น่าจะได้รับผลดีเนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสูงขึ้น ด้านเซกเตอร์อุตสาหกรรม ได้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เครื่องปรับอากาศ และเซกเตอร์การแพทย์ได้ประโยชน์ จากอากาศที่ร้อนผิดปกติ ทำให้มีจำนวน คนไข้มากขึ้น ทั้งจากภายในและต่างประเทศ

ด้านเซกเตอร์อสังหาริมทรัพย์เสียประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้กู้บ้านต้องผ่อน เงินงวดสินเชื่อด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการ มีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ด้านเซกเตอร์การเงินก็เสียประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทไฟแนนซ์และลีสซิ่งสูงขึ้น ในขณะที่เซกเตอร์เกษตรกรรมเสียประโยชน์จากผลผลิตออกมาในปริมาณที่ลดลงจากภูมิอากาศ แบบภัยแล้งเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าปกติ