ตอบโจทย์เด็กสายเทคโนโลยี กับหลักสูตรสำหรับโลกอนาคต จากคณะวิศวะและคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.กรุงเทพ

       ไม่นานนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวไว้เมื่อครั้งมาตรวจเยี่ยมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า สาขาวิชาที่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ต้องเป็นสาขาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ และต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศในอนาคต เพื่อที่บัณฑิตจะได้มีงานทำและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป พร้อมกับกล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า เป็นผู้นำด้านการศึกษาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติอย่างแท้จริง

       ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความเชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ดังอัตลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัย นั่นคือ C+T หรือ Creativity และ Technology ภายใต้แนวคิดว่า “เมื่อความคิดสร้างสรรค์ผสานกับเทคโนโลยี อนาคตแบบไหนก็ไร้ขีดจำกัด” แนวคิดดังกล่าวสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านทางสาขาวิชาที่นำสมัยและทันเทคโนโลยี นั่นคือ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ สาขาวิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเกมและสื่อเชิงตอบโต้ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ซึ่งทุกสาขาวิชาดังกล่าวสามารถผลิตบัณฑิตเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของรัฐบาลถึง 3 คลัสเตอร์ทั้ง First S-Curve และ New-S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล

คณะวิศวกรรมศาสตร์
       สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ แตกต่างจากที่อื่นตรงที่ผลิตวิศวกรผู้สามารถสร้างหุ่นยนต์และนวัตกรรมอื่นๆ ที่มีความอัจฉริยะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน เช่น วิศวกรด้าน Machine Learning วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรข้อมูล นักพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกรด้าน Cyber Security ฯลฯ โดดเด่นด้วยการนำความรู้ทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งยุค มาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้  ขณะที่สาขาวิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นการผสานอย่างลงตัวระหว่างศาสตร์ทางวิศวกรรมและศิลปะการออกแบบนวัตกรรมมัลติมีเดียเพื่องานอีเวนต์ทุกรูปแบบ ทั้งแสง สี เสียง คอมพิวเตอร์กราฟิก และแอมิเมชัน จบไปแล้วสามารถประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมบันเทิงได้หลากหลาย เช่น วิศวกรเสียง (Sound Engineer) นักออกแบบแสงและเสียง นักออกแบบ Light & Sound ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มัลติมีเดีย เป็นต้น

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม
       ปัจจุบันคำว่า Big Data ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย นั่นเพราะเป็นคลังข้อมูลมหาศาลของผู้บริโภคที่องค์กรและบริษัทเก็บรวบรวมไว้ เพื่อใช้วิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจหรือนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นอาชีพ Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จึงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นอาชีพที่เซ็กซี่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะอาชีพนี้ไม่เพียงต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเท่านั้น แต่ยังต้องมีไอเดียสร้างสรรค์ที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์หรือนวัตกรรมให้แก่บริษัทและองค์กร ซึ่งสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สามารถผลิตผู้ประกอบอาชีพนี้ได้โดยตรง ส่วนสาขาวิชาเกมและสื่อเชิงตอบโต้นั้น ก็มุ่งสร้างนักพัฒนาเกมดิจิทัล ตลอดจนนักพัฒนาเทคโนโลยี VR และ AR ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี ศิลปะ และการตลาด เพื่อตอบสนองตลาดเกมและกีฬาอีสปอร์ตที่เติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในไทยและต่างประเทศ

       สาขาวิชาสายเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงนับว่าทันกระแสโลก ขานรับตลาดงานในอนาคต และยิ่งผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์อันเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมาอย่างช้านาน อุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยครบครัน และการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตรด้วยแล้ว ยิ่งรับประกันได้ว่า เด็กสายเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพจะไปได้ไกลกว่าใครแน่นอน