ใช้กัญชาผิดวีธี เสี่ยง! “หลอดเลือดสมองผิดปกติ

        กัญชา หรือ พืชกัญชา จัดเป็นพืชล้มลุกในประเภทของหญ้า ชนิด cannabis sativa เป็นที่รู้จักของมนุษย์โลกมากว่า 5,000 ปี เพราะมนุษย์เรานำกัญชามาใช้ตามความเชื่อ วัฒนธรรม และพิธีกรรม รวมทั้งนำมาเป็นยาด้วยความเชื่อว่าช่วยสร้างความผ่อนคลาย ทำให้เพลิดเพลิน หรือที่เรียกว่า recreational substance อีกทั้งช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว เพื่อการเข้าสังคม สังสรรค์ หรือเพื่อหลบหนีปัญหาความเครียดทางด้านจิตใจ หรือความกดดันในจิตใจ

        จากข้อมูลของกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ให้รายละเอียดของพืชกัญชาว่า มีลักษณะต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบแตกเป็นแฉกคล้ายใบสัมปะหลังหรือใบละหุ่ง ริมใบทุกแฉกมีลักษณะเป็นจักๆ ใบหนึ่งมีราว 5-8 แฉก ในก้านเดียวกัน ออกดอกตามง่ามกิ่งก้าน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจากออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทั้งการกระตุ้น กด และหลอนประสาท หากใช้โดยไม่มีจุดมุ่งหมายทางการแพทย์อย่างชัดเจนเพื่อการรักษา ย่อมจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือสภาพจิตใจของของผู้ใช้ยา

        ด้านหนึ่งกัญชาก็ออกฤทธิ์ที่พึงประสงค์เพื่อการปรับแก้สมดุล กระตุ้นร่างกาย แต่อีกด้านก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายและระบบประสาท นำไปสู่การเสียชีวิตได้

        คำถามที่สำคัญคือ ทำไมกัญชาหรือพืชกัญชา จึงมามีบทบาทเป็นที่สนใจอย่างมากในขณะนี้ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า สมองและระบบประสาทส่วนปลายของมนุษย์มีตัวรับ หรือ receptor ที่สามารถรับสารเคมี เป็นระบบที่มีชื่อว่า endocannabinoid system (ECS) มีบทบาทสำคัญในมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนม ในการควบคุมความอยากอาหาร ความเจ็บปวด การอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ความทรงจำ การเคลื่อนไหวร่างกาย และความเครียดทั้งทางกายและจิตใจ ระบบ ECS ช่วยรักษาภาวะสมดุลในร่างกาย เมื่อเกิดความไม่สมดุล เช่นเกิดการอักเสบ ร่างกายจะกระตุ้นหรือเปิดระบบ ECS เพื่อทำการแก้ไข

        “อาจกล่าวได้ว่าสมองและระบบประสาทส่วนปลายของมนุษย์ มีระบบและตัวรับคล้ายแม่กุญแจ ส่วนกัญชาก็เปรียบเสมือนกุญแจที่จะพร้อมเข้าไปไขแม่กุญแจ และทำให้เกิดการสื่อสารในสมอง ด้านหนึ่งก็เป็นการออกฤทธิ์ที่พึงประสงค์เพื่อการปรับแก้สมดุล กระตุ้นร่างกาย แต่อีกด้านก็ออกฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายมนุษย์เช่นกัน

        สารเคมีที่ออกฤทธิ์จากกัญชา หรือ พืชกัญชา ประกอบด้วย กลุ่ม CBD (Cannabidiol), กลุ่ม THC (Tetrahydrocannabinol) และ Terpenes ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ในการใช้รักษาอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรงของผู้ป่วยที่ได้รับยาฆ่ามะเร็ง ใช้รักษาผู้ป่วยต้อหิน ลดอาการปวด กระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ ลดอาการมือสั่น รักษาอาการของโรคพาร์กินสัน รักษาอาการเกร็งในผู้ป่วย รักษาอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และภาวะลมชักในสมอง นอกเหนือจากอาการที่กล่าวมานั้น ยังไม่พบว่ากัญชาสามารถใช้รักษาโรคอื่นๆได้

        การออกฤทธิ์ของ THC และ CBD ก็แตกต่างกันไปตามปริมาณ ระยะเวลาและการนำมาใช้ ในคนที่ไม่เคยได้รับหรือใช้กัญชามาก่อน THC อาจออกฤทธิ์นานได้ถึงหนึ่งวันครึ่งเลยทีเดียว ส่วนคนที่ใช้มาเป็นเวลานาน THC ก็สามารถออกฤทธิ์นานได้ถึงหนึ่งวันเต็ม ซึ่ง THC ออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทของมนุษย์ การใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของความคิดความจำ ภาวะสมองฝ่อ ผิดปกติทางจิตที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้ถุงลมโป่งพอง เสี่ยงต่อโรคมะเร็งอัณฑะ และอาจนำไปสู่ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น นอกจากนี้การหยุดใช้หรือการขาดสารเคมีจากกัญชากะทันหันในผู้ที่ใช้หรือเสพมาเป็นระยะเวลาหนึ่งก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน

        นอกจากนี้ ยังมีรายงานทางการแพทย์ พบว่า คนที่เสพกัญชาหรือสูบกัญชา ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดสมองและหัวใจ อาทิ เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตอย่างกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเกิดลิ่มเลือดและการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งอาจส่งผลให้ระบบควบคุมอัตโนมัติของหลอดเลือดสมองเสียหาย ซึ่งทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดเลือดสมอง ทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวร

        อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจจำแนกให้ชัดเจนได้ว่าอาการดังกล่าวเป็นผลกระทบโดยตรงจากกัญชาหรือไม่ เนื่องจากพันธุกรรม และลักษณะการใช้ชีวิตของผู้ใช้หรือเสพกัญชาก็มีผลต่อการตอบสนองและอาการที่เกิดขึ้นด้วย

        พลาดไม่ได้!! กับหลากหลายเสวนา “กัญชาเพื่อการแพทย์” ในงาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019” โดยเครือมติชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ขนทัพหน่วยงานและองค์กรด้านสุขภาพชั้นนำมาร่วมขับเคลื่อน ผลักดันให้คนไทยรอบรู้ด้านสุขภาพ กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมในสถานที่ใหม่ บนเนื้อที่กว่า 5,000 ตร.ม. แล้วมาพบกัน วันที่ 27 30 มิถุนายน 2562 ที่ Hall 5 อิมแพคเมืองทองธานี

บทความโดย ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ประสาทศัลยแพทย์ รองหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล