
อภัยภูเบศร เปิดตัว “กัญชาอภัยภูเบศรโมเดล” วางระบบการใช้กัญชาเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย แจงละเอียดขั้นตอนการปลูกจนถึงการจ่ายยา พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสถาบันการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อกระจายสู่คนไข้อย่างทั่วถึง และเตรียมส่งต่อองค์ความรู้สู่นิทรรศการ และการบรรยายให้ความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์ ในงานมหกรรมสุขภาพระดับประเทศ Healthcare 2019 ระหว่างวันที่ 27 – 30 มิถุนายน 2562 ณ Hall 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ในโอกาสวันครบรอบ 78 ปี แห่งการสถาปนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร วันที่ 24 มิถุนายน 2562 มีการประชุมวิชาการ “กัญชาทางการแพทย์” ณ ห้องประชุมพญายอ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก โดย เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้เพื่อดำเนินการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสของกัญชากำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน เนื่องจากเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น แต่การนำไปใช้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากกระแสข่าวมาจากทุกทิศทุกทาง ทำให้เกิดความสับสน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้จัดประชุมวิชาการ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่ การปลูก จนถึงกระบวนการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบต้นกัญชาในการปลูกแบบมาตรฐานเมดิคัลเกรด ขององค์การเภสัชกรรม (ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การเภสัชกรรม)
งานนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.ธเรศ กริษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) เป็นวิทยากรบรรยาย ร่วมด้วย ศาสตราจารย์นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ติดตามและเชี่ยวชาญเรื่องการใช้กัญชา พันเอก พญ.นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ผู้ที่เห็นข้อจำกัดของการใช้กัญชา ในฐานะประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย นพ.ปัตพงษ์ เกษมสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้มีความรู้ในเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ และอีกบุคคลสำคัญ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้คร่ำหวอดกับการศึกษาวิจัยกัญชาคนแรก ๆ ของประเทศไทย โดยงานนี้ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ จึงสามารถรับลงทะเบียนเข้ารับฟังได้เพียง 200 ที่นั่ง และเต็มภายในเวลาไม่กี่วัน ทางโรงพยาบาลจึงจัดให้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุคแฟนเพจ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” ตลอดการเสวนา เพื่อให้คนที่สนใจไม่พลาดงานครั้งนี้
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้คร่ำหวอดการศึกษาวิจัยกัญชาคนแรก ๆ ของประเทศไทย
ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า ตนในฐานะที่ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน หมอพื้นบ้าน มาหลายสิบปี พบว่าในชนบทเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว มีการใช้กัญชาทั้งในส่วนผสมของการปรุงอาหาร และยารักษาโรค นอกจากนี้ได้เคยร่วมการบรรยาย การใช้กัญชาภาคประชาชน เพื่อพูดคุยในการหาแนวทาง นำกัญชามาใช้ประโยชน์ การวางระบบ การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ทั้งระบบ ตั้งแต่การปลูก การสกัดสารสำคัญ และการสั่งจ่ายยา เพื่อเป็นองค์ความรู้แผ่นดิน พร้อมเปิด “กัญชาอภัยภูเบศรโมเดล” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสถาบันการแพทย์ที่สนใจทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ทำความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพะเยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการแพทย์แผนไทยฯ
“กัญชา กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน ปัจจุบันมีงานวิจัยเป็นหมื่นชิ้นทั่วโลก เรากำลังหาแนวทางที่จะใช้กัญชาอย่างถูกต้อง การกระโจนลงไปสู่บางอย่างโดยไม่มีระบบควบคุมที่ดีพออาจนำมาซึ่งปัญหาที่แก้ยาก ถ้ากัญชาดีจริงเหมือนที่มีโฆษณาว่ารักษาได้ทุกโรค เรามาปิดโรงพยาบาลกันดีหรือไม่ วันนี้เราควรจะมองเรื่องของกัญชาอย่างที่ควรจะเป็น เราควรมองที่เรื่องของการใช้ประโยชน์ เป็นเหตุให้เราต้องศึกษาวิจัย และลงมือปลูกกัญชาเอง การจะปลูกกัญชาต้องคิดอย่างครบวงจร รู้ว่ากัญชาจะไปไหน ทำอะไร จะแก้อะไร และการใช้ต้องมีความรู้เป็นอย่างดี”
ในการวิจัย สารออกฤทธิ์ของกัญชามีหลายแบบ ซึ่งการทำกัญชาเป็นยาสมัยก่อนจะใช้ใบ ผ่านการสูบซึ่งเป็นการเผาให้เกิดความร้อน และสารจะผ่านไปเส้นเลือดบริเวณใต้ลิ้นไม่ผ่านตับ จะหายเมาได้ง่าย ถ้ากินผ่านตับส่วนหนึ่งจะถูกทำลายด้วยกรด สารเมาจะเพิ่มขึ้น คอนโทรลยาก ถ้าจะให้ออกฤทธิ์เร็วคือการสเปรย์ใต้ลิ้น จึงเป็นที่มาทำไมต้องสเปย์ใต้ลิ้น และไม่นิยมใช้กัญชาดองเหล้าเป็นยา เพราะการจะได้สารออกฤทธิ์จากกัญชาต้องผ่านความร้อน จึงนิยมเคี่ยวกับน้ำมัน สารในกัญชาจะละลายได้ดีในน้ำมัน สำหรับการศึกษาเรื่องการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ในระยะแรก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้กัญชารักษา 4 โรค คือ ลมชัก ปลอกประสาทเสื่อม อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน โดยจะเป็นแห่งแรกที่มีการผลิตยาใช้ในพื้นที่
“เราติดตามการใช้กัญชาของชาวบ้านมานาน เพื่อศึกษาวิธีการใช้ พันธุ์กัญชา เป็นวิจัยเชิงสังคม แม้จะมีการใช้ในทางการแพทย์พื้นบ้านอยู่บ้าง แต่ยังผิดกฎหมาย ถูกระบุให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 การจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำว่า เราจะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จึงเป็นความพยายามของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่เห็นความสำคัญของกัญชาในฐานะพืชสมุนไพรที่มีความสามารถในการสร้างสารเคมี เราจึงมีการออกแบบโรงเรือนปลูกกัญชาตามหลักแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้สารเคมีปริมาณสูงเอามาใช้ประโยชน์ โดยผนึกกำลังระหว่างวิศวกร เภสัชกร และเกษตรกร ในการปลูกกัญชาแบบ เมดิคัลเกรด ควบคุมปัจจัยทั้งหมด เป็นมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ที่นานาชาติให้การยอมรับ เป็นการปลูกแบบไม่ใช้ดินปลูกในตู้คอนเทนเนอร์ และศึกษาวงจรช่วงชีวิตของกัญชา เพื่อหาช่วงเวลาที่มีการสร้างสารสำคัญสูงสุด โดยมีการเตรียมสกัดสารด้วยเครื่องมือทันสมัย เพื่อไม่ให้เหลือสารตกค้างในกัญชา เป็นสมุนไพรที่ปลอดภัยแก่ผู้ป่วย และมีการติดตามโดยแพทย์และเภสัชกร”
สำหรับผู้ที่พลาดประชุมวิชาการ “กัญชาทางการแพทย์” ครั้งนี้ เตรียมพร้อมรับสาระความรู้เรื่องกัญชาได้ในงานมหกรรมสุขภาพระดับประเทศ Healthcare 2019 ระหว่างวันที่ 27 – 30 มิถุนายน 2562 ณ Hall 5 อิมแพคเมืองทองธานี โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะนำองค์ความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์ มาจัดนิทรรศการให้ศึกษา และวันที่ 29 มิถุนายน เวลา 12.00 น. เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้เกียรติขึ้นเวทีเล่าเรื่อง “ประโยชน์ของกัญชาและการพัฒนาทางการแพทย์แผนไทย” เป็นครั้งแรกในงานมหกรรมสุขภาพระดับประเทศอีกด้วย
กิจกรรมเวที งาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019” วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 14.00 – 15.00 น. วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2562 เวลา 12.00 – 12.50 น. “ประโยชน์ของกัญชาและการพัฒนาทางการแพทย์แผนไทย” |