ม.กรุงเทพเปิดหลักสูตรใหม่ขานรับโลกอนาคต กับสาขาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล

     ถ้าใครเป็นคนชอบเล่าเรื่อง รักการสร้างสรรค์คอนเทนต์ และสนใจดิจิทัลเทคโนโลยีครบในคนเดียวแล้วละก็ การผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล (Creative Content Production and Digital Experience) คือหลักสูตรใหม่ล่าสุดจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อเยาวชนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

     นิเทศศาสตร์คือศาสตร์แห่งการสื่อสาร แต่นอกจากการเขียนหรือเล่าด้วยวิธีเดิมๆ จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถสื่อสารออกไปผ่านทางภาพ แสง สี เสียง และใช้เทคโนโลยีทันสมัยในยุคดิจิทัลอย่าง AI, VR และ AR มาเป็นเครื่องมือ เพื่อทำให้การสื่อสารโดดเด่น โดนใจ และสร้างความรู้สึก “ว้าว” ต่อผู้พบเห็น กระทั่งเกิดเป็นกระแส Viral ได้ โดยไม่จำกัดว่าการสื่อสารนั้นจะอยู่ในแพลตฟอร์มใด

     หนึ่งในตัวอย่างที่เยี่ยมยอดของการสื่อสารด้วยเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัลก็คือ นิทรรศการ From Monet to Kandinsky ที่ภาพวาดของศิลปินระดับโลก 16 คน ถูกนำมาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวจนราวกับภาพวาดนั้นมีชีวิต (https://www.youtube.com/watch?v=0BI2reC4Zig / ขอขอบคุณคลิปจาก TV.Berlin) ผู้ที่จะสามารถผลิตเนื้อหาและออกแบบประสบการณ์ดิจิทัล จนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างตื่นตาตื่นใจดังที่ปรากฏในนิทรรศการนี้ได้นั้น จำเป็นต้องฝึกสร้างจินตนาการ คิดไอเดียสร้างสรรค์ และรู้จักใช้เทคโนโลยีไปพร้อมกัน ซึ่งหลักสูตรการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สามารถบ่มเพาะผู้มีทักษะดังกล่าวได้นั่นเอง

     “เรากำลังอยู่ในยุคที่การสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจอหรือแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่อยู่รอบๆ ตัวเรา” ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าว “ซึ่งทุกวันนี้การสื่อสารจะถูกขับเคลื่อนด้วย AI, VR และ AR ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะเกิดใหม่ในอนาคต หลักสูตรนี้จึงจะฝึกเด็กให้คิดสร้างสรรค์คอนเทนต์และออกแบบการเล่าเรื่องแบบเก่าๆ ให้กลายเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับผู้ชมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่งานเขียน ภาพถ่าย ภาพกราฟิก อินโฟกราฟิก วิดีโอ โซเชียลมีเดีย โมบายล์แอพ ไปจนถึง VR และ AR โดยเน้นการออกแบบประสบการณ์เสมือน เช่น Virtual Concert, Virtual Exhibition ฯลฯ นับเป็นหลักสูตรใหม่ที่ผสมผสานด้านการผลิตสื่อกับเทคโนโลยีของงานอีเว้นท์เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองานอีเว้นท์ที่ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้รูปแบบการเล่าเรื่องที่แปลกและแตกต่างจากเดิม เพราะการนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์และมอบประสบการณ์แปลกใหม่เท่านั้นที่จะสร้างความฮือฮาและความน่าประทับใจ จนเกิดเป็นกระแสพูดถึงในวงกว้างได้”

     ดร.พีรชัยยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการผสมผสานดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปในการผลิตคอนเทนต์และอีเว้นท์นั้น ไม่เพียงจะทำให้การสื่อสารน่าสนใจขึ้น แต่ยังเป็นการรุกตลาดงานแห่งโลกอนาคตที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในแทบทุกด้านด้วย นอกจากนี้ผู้ผลิตคอนเทนต์และอีเว้นท์ยังต้องใช้ Big Data ในการเรียนรู้ไลฟ์สไตล์ของผู้คน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ในปี 2561 ธุรกิจอีเว้นท์มีมูลค่าตลาดสูงถึง 13,200 ล้านบาทเลยทีเดียว

     ดังนั้นเยาวชนผู้ชอบงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ชอบการเล่าเรื่องผ่านช่องทางและโปรดักชั่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชอบติดตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หลักสูตรการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เตรียมเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2563 นี้จะตอบโจทย์ได้อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญคือ เรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน เพราะธุรกิจอีเว้นท์เติบโตอย่างต่อเนื่องและเทรนด์การผลิตสื่อได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตามกระแส Technology Disruption 

(ขอเชิญชมการออกแบบประสบการณ์ดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี Mapping ได้ในงาน Open House มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Main Campus ถนนพหลโยธิน เขตคลองหลวง ปทุมธานี บริเวณด้านหน้าตึกเพชร วันที่ 29-31 สิงหาคม 2562 เวลา 19.30-21.00 น.)