TMB เปิดเวทีเสนา-ดึงกูรูชี้ช่องทางธุรกิจเสริมเขี้ยวเล็บพันธมิตรทันเศรษฐกิจโลก

ปีนี้เศรษฐกิจดีกว่าปีที่แล้วจริงหรือ ในปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ แนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร หรือลงทุนในเซกเมนต์ไหนถึงจะดี หลายเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น เชื่อว่าขณะนี้หลายธุรกิจได้มีการปรับให้เข้ากับยุคดิจิทัลไปมากพอสมควรแล้ว เพื่อให้สามารถอยู่บนเวทีการแข่งขันได้ และแน่นอนว่าทุกองค์กรสามารถปรับตัวได้ถ้ามีบุคลากรที่มีความพร้อมในการปรับตัว 

ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า “ทีเอ็มบี” ซึ่งเป็นมากกว่าแหล่งเงินทุน เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมปีกลูกค้ารายใหญ่และคู่ค้ารายย่อยให้แกร่งอย่างมีประสิทธิภาพ ให้รู้ทิศทางเศรษฐกิจและรับมือกับสงครามการค้าโลก ผ่านการจัดสัมมนา ภายใต้ชื่อ “Shaping Thailand’s Competitive Edge 2020” ซึ่งมี นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี อนาลิติกส์, ปรีชา นินาทเกียรติกุล แม่ทัพมินิ ประเทศไทย และ อครินทร์ ภูรีสิทธิ์ Head of Corporate Human Resources, Central Group ร่วมขึ้นเวทีสัมมนา ณ โรงแรม วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทย-โลก ที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ทั้งยังไกด์ไลน์ถึงการสร้างแบรนด์อย่างไรให้ยิ่งใหญ่และทำกำไร และบริหารคนอย่างไรในสภาพเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องเช่นนี้

ก่อนที่การสัมมนาจะเริ่มขึ้น ประธานเปิดงาน โดย “เสนธิป ศรีไพพรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี ก็ได้ขึ้นกล่าวขอบคุณลูกค้า ที่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยังคงให้ความไว้วางใจทีเอ็มบีเป็นพันธมิตร ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจทีเอ็มบีเป็นอย่างมาก ผู้ร่วมงานซึ่งเป็นลูกค้าคนสำคัญของทีเอ็มบี จะได้รับข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และระดับโลกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อย่างทีม TMB Analytics พร้อมเปิดเผยข้อมูล สถิติ และถอดรหัสออกมาเป็นแนวทางสร้างสรรค์การเติบโตให้กับองค์กร และการเตรียมพร้อมบริหารจัดการธุรกิจที่ถูกต้อง เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ชี้ชีพจรเศรษฐกิจโลก-แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

“นริศ สถาผลเดชา” เผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของโลก กล่าวคือ “คนออมมาก” โดยเอาเงินไปฝากให้คนบริโภคมาก ขณะที่ “คนบริโภคมาก” ก็จะเงินฝากน้อย ด้วยความไม่สมดุลจึงนำมาสู่การปะทุของสงครามการค้า หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2001 เกมการค้าโลกเกิดขึ้น 50% มาในปี 2018 ขยับเป็น 70% ซึ่งทุกอย่างเกิดจากการที่ทุกคนในโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นจากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเปิดเยอะขึ้น ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อคนหลายกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อคนอีกหลายกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดสงครามการค้า ส่งผลให้การค้าโลกชะลอ เศรษฐกิจชะลอ มีการลดดอกเบี้ย ลดค่าเงิน เหล่านี้คือเกมระยะยาวที่เราจะต้องเจอ 

“ทั้งโลกเข้าสู่ภาวะติดลบ ไม่ใช่แค่ไทย คนขาดดุลจะหามวยคู่ชกทางการค้า จีนเกินดุลกับทั้งโลกแค่ 14% ยังมีเยอรมัน ญี่ปุ่น รอให้ชกต่อไป หลายประเทศมีการกีดกันทางการค้าแบบที่ไม่ใช่ภาษี โดยสหรัฐมีข้อกีดกันทางการค้า 126,115 ข้อ ขณะที่จีน 98,449 ข้อ ในการนำเข้าส่งออกทั้งหมด ตอนนี้ดอกเบี้ยแข่งกันลง ขณะที่เรื่องสงครามการค้ายังวิ่งกันต่อ โดยมีจีนเป็นหมากสำคัญ เป็นจุดศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ แน่นอนว่าทุกคนอยากเกินดุลเพราะส่งออกได้เยอะ เพราะถ้าขาดดุลคนจะบริโภคเยอะและออมไม่พอ ทำให้ต้องยืมสินค้าเขามาบริโภค”

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ปีที่แล้วบอกว่าเศรษฐกิจไทยโต 4.1% ปีนี้โต 2.7% เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่กังวลคือการบริโภคเอกชน ซึ่งปีที่แล้วเป็นสัดส่วน 50% ของเศรษฐกิจไทย การส่งออกของสินค้า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ 5% 

“เรารอการลงทุนเอกชนกลับมา ปีหน้าไม่น่าจะดีขึ้นมาก ส่งออกไทยจะลำบากนิดหน่อย -2.7% ด้านท่องเที่ยวยังไปได้ จีนกลับขึ้นมาโตเป็นเพราะว่าฮ่องกงปิดสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทยังคงแข็ง ซึ่งยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป ซึ่งในมุมสิ้นปีก็ยังคงเห็นค่าเงินบาทแข็ง ขณะที่ดอกเบี้ยก็มีโอกาสที่จะลงอีก 1 ครั้งในช่วงสิ้นปีนี้”

อาวุธกระตุ้นยอดขาย

“รถมินิ” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ ที่มียอดขายโตขึ้นทุกปี โดย “ปรีชา นินาทเกียรติกุล” เผยกลยุทธ์ว่า มินิ ได้โตแบบเงียบๆ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่ตอนนี้เติบโตขึ้น โดยครึ่งปีแรกโตไปแล้ว 25% จาก 340 เป็น 430 ด้วยมินิมองมูลค่าของแบรนด์ คือ “Passion” และลงสนามแข่งขันด้วย “อีโมชัน” ไม่ใช่ “ฟีเจอร์”

“เราไม่เคยโฆษณารถเราเลยว่าใช้หัวสูบอะไร วิ่งได้เท่าไร ฟีเจอร์แข่งกันได้ แต่อีโมชันแข่งกันยาก หัวใจคืออีโมชัน ส่วนสมองเราจ้างมืออาชีพมาทำได้ เราเป็นแบรนด์ที่กล้าทำอะไรใหม่ๆ อย่างปีที่ผ่านมาเราเริ่มขายมินิผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจอง 1 แสนบาท ขายหมด 20 คัน ใน 3 เดือน มาปีนี้ขายหมด 20 คัน ใน 5 วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยกล้าที่จะใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินแสน”

ปรีชา ยังได้เน้นย้ำอีกว่า ต้องกล้าคิดต่าง ต่างยังไงให้โดนและเจ๋ง ต้องสร้างแบรนด์เรื่อยๆ มากกว่าสร้างโปรดักซ์ ต้องคิดคาแรคเตอร์ของแบรนด์ ต้องหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ และก็เชื่ออยู่เสมอว่าลูกค้าจะใช้หัวใจมากกว่าสมอง หากธุรกิจไหนแตะต้องหัวใจลูกค้าได้ เชื่อว่าสินค้านั้นจะขายได้กำไร

ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

อยากจะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือต้องรู้วิธีที่จะหยิบเครื่องมือที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ประโยคหนึ่งจาก “อครินทร์ ภูรีสิทธิ์” ที่แนะให้กับผู้ร่วมฟังเสวนา โดยอธิบายว่า สิ่งสำคัญคือต้องยึดการบริหารบุคคลแบบมี “Capability + Capacity + Care” ประกอบกับต้องใช้ Data Analysis ให้เกิดผลอย่างเต็มที่ โดยได้ยกตัวอย่างของการนำเครื่องมืออย่าง “workplace by facebook” มาใช้ประโยชน์ในองค์กร ในส่วนของการพัฒนาทักษะ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากร เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ดีขึ้น ด้วยจำนวนสาขาของแฟมิลี่มาร์ทกว่า 1000 สาขาทั่วประเทศ ดังนั้นในแง่ของการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพที่สามารถจะนำแผนงานไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

“ถ้าเราสร้างความสามารถในการที่จะนำข้อมูล หรือเครื่องมือที่มีอยู่ ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ก่อน จะมีโอกาสสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้ เหมือนอย่าง Workplace ที่เราเลือกนำมาช่วยให้การสื่อสารระหว่างสำนักงานใหญ่กับทีมสาขาทุกพื้นที่ เห็นในเรื่องเดียวกันและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เลือกใช้ฟังก์ชันต่างๆ เช่น การไลฟ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะสาขา ทำให้สามารถเพิ่มสินค้าใหม่ๆ ลงขายหน้าร้านได้มากขึ้น เป็นต้น” 

ถือเป็นอีกเวทีเสวนาที่ทีเอ็มบีสะท้อนให้เห็นว่า “เป็นมากกว่าธนาคาร” ตามเจตนารมณ์ที่ประกาศชัดว่าลูกค้าทีเอ็มบีได้มากกว่า (Get MORE with TMB) และหนึ่งในนั้นคือการทำให้ลูกค้าได้มาอัพเดท-วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการเลือกลงทุนในรูปแบบต่างๆ ได้ต่อไป