เอไอเอส กับบทบาทของภาคเอกชนที่ลุกขึ้นมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน

ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อประเทศ โดยเฉพาะหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ บัณฑิตที่จบการศึกษายังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น การสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้วยการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ผู้ที่จะเป็นตัวกลางในการพัฒนาการเรียนรู้โดยที่จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจึงเกิดขึ้น พร้อมสำรวจมุมมองของภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่าน โครงการ Innovative Teaching Scholars (ITS) โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส และกลุ่มอินทัช กล่าวภายในงานสัมมนาออนไลน์ “Future Thailand-Innovation in Education and Workforce Development” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะทำให้บุคลากรที่จะออกมาสู่ตลาดแรงงานเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่มีข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพ และทำให้องค์กรสามารถเติบโตไปได้ด้วยเช่นกัน

“ถ้าเราคิดถึงการเติบโตขององค์กร เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าถ้าองค์กรเติบโตอย่างเดียว แต่สังคมและความพร้อมของ Resource (ทรัพยากร) ในประเทศมีไม่เพียงพอ มันก็จะมีผลทำให้เกิด Limitation (ข้อจำกัด) ของการเติบโตขององค์กรเช่นกัน ความพร้อมของ Human Resource ที่จะเข้ามาในตลาดแรงงาน จะต้องมาเสียเวลาในเรื่องของการเตรียมความพร้อมหลังจากจบการศึกษาเป็นเรื่องที่อันตรายและเป็นจุดล่อแหลม”

    “เวลาที่เราพูดถึงการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เราบอกว่า เราทิ้งให้ภาครัฐหรือว่าภาคการศึกษาทำงานอย่างโดดเดี่ยว คิดว่าอันนี้ลำบาก เนื่องจากว่าภาคเอกชนเป็นภาคที่เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ในแง่ของความต้องการหรือว่า Direction (ทิศทาง) ที่จะไปเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นความร่วมมือที่ภาคเอกชนพึงที่จะต้องทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสังคม โดยเฉพาะองค์กรที่มีความแข็งแรง ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากสังคม เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ที่องค์กรเหล่านี้ถ้ามีโอกาสแล้วลุกขึ้นมาช่วยกัน ก็จะทำให้การเติบโตที่เราบอกว่า Sustainability (ยั่งยืน) ที่คุยกัน มาอย่างยาวนาน อันนี้นี่ก็จะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้การเติบโตของสังคมและองค์กรเป็นไปอย่างยั่งยืน นี่คือมุมที่เอไอเอสมอง”

การปรับตัวและเปลี่ยนบทบาทของภาคศึกษา

เพราะการศึกษาสำคัญต่อการสร้างทรัพยากรที่จะออกมาในตลาดแรงงานและมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาชาติ บทบาทของสถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนไปเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่คืออนาคต ต้องคิดถึงอนาคตและต้องมองปัจจุบันว่าทั้งภาคการศึกษา รวมถึงภาคเอกชนต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งภาคเอกชนก็มีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ 

กานติมากล่าวว่า ด้วยความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ปริญญาหรือวุฒิสำคัญ แต่อาจจะไม่สำคัญเท่าประกาศนียบัตร (Certificate) หรือหลักสูตรระยะสั้น เพราะไม่สามารถใช้ระยะเวลาหลายปีในการสร้างชุดทักษะ (Skill set) บางอย่าง รวมถึงชุดทักษะที่หลากหลายให้กับนักศึกษาหรือแรงงานที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Dynamic) ทำให้บทบาทของมหาวิทยาลัยอาจจะต้องเปลี่ยนไปเล็กน้อย 

“ศาสตร์ทุกกลุ่มถูก Disrupt (การทำลายล้าง) มาแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Disruption  ที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษากำลังมา มหาวิทยาลัยเองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง เกี่ยวกับอนาคตในเรื่องของ Skill set หรือคำถามที่ว่า Certificate กับปริญญา อะไรสำคัญกว่ากัน ต้องบอกว่าเป็นไปได้ที่ Certificate จะลุกขึ้นมามีความสำคัญ เนื่องจากว่า Skill set ต่าง ๆ เกิดการเคลื่อนตัวและเปลี่ยนไปเร็วและแรงมากขึ้น เมื่อโลกมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยก็อาจจะต้องทบทวนในเรื่องของบทบาทของมหาวิทยาลัยในการให้การศึกษานอกเหนือไปจากระบบการศึกษาปริญญาปกติ”

 “เราเชื่อว่าคณาจารย์เป็นผู้ทรงความรู้และทรงคุณวุฒิ มีความสามารถที่จะเตรียมความพร้อมของ Resource ต่าง ๆ ให้มีความแข็งแรง เพียงแต่ว่าบทบาทในการให้การศึกษา แทนที่จะเป็นในเรื่องของปริญญาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่จะทำให้คนเกิด Skill set ต่าง ๆ แทนที่จะเป็นใบปริญญาอย่างเดียวอยากจะโฟกัสในตรงนี้ เราอาจจะเห็นภาพของสถาบันเทคโนโลยีหรือหลักสูตรอาชีวศึกษาเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการศึกษาที่เป็น Skill set ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้น”

ความท้าทายของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน

    ที่ผ่านมาความต้องการขององค์กรกับสถาบันการศึกษามีความต่างกัน สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้สถาบันการศึกษาช่วยเราก็คือ การเตรียมความพร้อมของคนต่อตลาดแรงงาน ไม่ถึงขนาดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปรับจูนระหว่างความสามารถกับความแข็งแกร่งของภาคเอกชน และภาคการศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อนำส่งคุณภาพที่ดีไปยังนักเรียน และนักศึกษาที่จะจบการศึกษามากกว่า อันนั้นคือสิ่งที่ท้าทาย 

เพราะฉะนั้นภาคการศึกษากับภาคเอกชนต้องคุยกันให้มากขึ้น ความเข้าใจพื้นฐาน ที่ทั้งภาคีภาคการศึกษาและภาคเอกชนต้องตรงกัน และรู้ว่าแต่ละฝ่ายคาดหวังอะไรในภาคอุตสาหกรรม เรารู้ว่าเราต้องการอะไร มองหาอะไร ทักษะอะไรที่เราต้องการจากนักศึกษาที่จะให้พวกเขาประสบความสำเร็จในที่ทำงาน ถ้าเรามีโอกาส ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนสภาพชีวิตของการทำงานจริง และจะช่วยได้มากในการเตรียมในศึกษาให้พร้อมในขั้นต่อไปของชีวิต

บทบาทภาคเอกชนต่อการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา 

กานติมาได้เปิดเผยถึงโครงการเกี่ยวกับการศึกษาที่เอไอเอสได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ The Educators Thailand เป็นโครงการของเอไอเอสที่ได้เริ่มต้นในปี 2021 นี้ เป็นการทำงานร่วมกับครู โดยมีครูกว่า  1,000 คน ร่วมเข้าอบรมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฝึกอบรมเรื่องสำคัญ สอนเด็กอย่างไรให้เด็กมีทักษะบรรลุความสำเร็จ หรือในช่วงโควิด-19 ที่มีความท้าทายมหาศาลในการสอนเด็ก ครูจะใช้เทคโนโลยีเต็มที่ได้อย่างไร 

นอกจากนี้ยังมีโครงการ AIS Academy for Thais ที่เอไอเอส และพันธมิตรได้ดำเนินการร่วมกัน โดยมีความรู้หลาย ๆ ด้านที่ต้องการแบ่งปันให้กับคนไทย โดยเฉพาะกับบัณฑิตรุ่นใหม่ และโครงการล่าสุด Jump Thailand เป็นโครงการที่พาเยาวชน และคนไทยที่มีมุมมองนวัตกรรมจากทั่วประเทศ เสนอไอเดียนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน แล้วทำให้ไอเดียเป็นจริง 

ทักษะชีวิตที่สำคัญต่อชีวิตในระยะ 10 ปีข้างหน้า

ด้วยภาวะปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล (Digital transformation) ที่ได้พลิกโฉมโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เห็นว่าทักษะที่ยังคงมีความสำคัญแม้ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าคือ ทักษะด้านการสื่อสาร ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทักษะในการปรับตัว ประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และภาวะความเป็นผู้นำ

“เชื่อว่าการสื่อสารจะเป็นอะไรที่สำคัญมาก ในอดีตเรานั่งในออฟฟิศ ทำงานร่วมกัน ด้วยโรคระบาดทำให้การสื่อสารมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ต่อมาคือการเรียนรู้ต่อเนื่อง (Growth Mindset) เพราะว่าความรับผิดชอบต่อสายการงาน สายอาชีพ ณ วันนี้ องค์กรและพนักงานตัดสินใจร่วมกัน องค์กรจะสามารถให้โอกาสหรือทักษะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง Active learning แก่พนักงาน ด้านพนักงานต้องปรับตัวเอง เราเห็นได้ว่า โลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศไทย Digital transformation มันยิ่งใหญ่กว่าการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพราะเท่ากับว่าเปลี่ยนดีเอ็นเอหรือพันธุกรรมองค์กรเลยด้วยซ้ำ และดิฉันเชื่อว่าเราต้องโฟกัสและเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องคนที่จะสามารถปฏิรูปและประยุกต์เข้าใจสถานการณ์ ความสามารถในการปรับตัว ในการเปลี่ยนแปลง” 

“ท้ายสุดที่สำคัญมากคือ Leadership หรือว่าการเป็นผู้นำโดยเฉพาะในบริบทของเอเชีย สิ่งที่เราเคยเชื่อ เคยนับถือ เคยเคารพ ผู้ใหญ่ต้องให้พื้นที่ ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ เพราะเขาคืออนาคต เราในฐานะผู้นำ ในฐานะคนรุ่นเก่า เราต้องเปลี่ยนแปลงการคิด”

อนาคตประเทศไทยในวันข้างหน้ากับโจทย์ท้าทายการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสังคมผู้สูงอายุ คุณภาพประชากร ทักษะแรงงาน กับพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาถาโถม หวังว่าการร่วมมือในครั้งนี้ระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านคลื่นพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยดี