จีน-ไต้หวัน: นักธุรกิจไทยในไทเปเล่าอารมณ์สังคมไต้หวัน ในวันที่สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตึงเครียดหนัก

วงศ์เลิศ ปิยะกุล หรือ “อาหลง” นักธุรกิจไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวันมานานกว่า 20 ปี บอกเล่าบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกของคนไต้หวันเท่าที่เขาได้สัมผัส ในช่วงที่สถานการณ์บนเกาะแห่งนี้ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนไต้หวัน จนถึงวันที่จีนซ้อมยิงขีปนาวุธในน่านน้ำรอบเกาะไต้หวันเพื่อตอบโต้การเยือนครั้งนี้ ที่ทางการจีนเรียกว่าเป็น  “การละเมิดหลักการจีนเดียวอย่างร้ายแรง”

วงศ์เลิศเป็นเจ้าของบริษัทนำเที่ยวในไต้หวัน นอกจากจะเชี่ยวชาญเรื่องเดินทางท่องเที่ยวแล้ว เขายังศึกษาและติดตามสถานการณ์สังคมและการเมืองไต้หวันอย่างใกล้ชิด โดยถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจต่าง ๆ เกี่ยวกับไต้หวันทางเพจเฟซบุ๊ก “แฟนพันธุ์แท้ไต้หวัน” และรายการ “ไต้หวันทันโลก” ทางแอปพลิเคชันคลับเฮาส์

ริมทะเลบนเกาะไต้หวัน

ที่มาของภาพ, EPA

การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ทำให้ทุกสายตาจับจ้องมาที่เกาะแห่งนี้ และเมื่อจีนตอบโต้การมาเยือนครั้งนี้ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ทั้งการประณาม การซ้อมรบในน่านน้ำไต้หวัน และประกาศระงับความร่วมมือในหลายด้านกับสหรัฐฯ ภูมิทัศน์การเมืองโลกก็มาถึงจุดล่อแหลมอีกครั้ง

วงศ์เลิศให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ถึงบรรยากาศในไต้หวันขณะที่จีนยังคงเดินหน้า “ซ้อมรบ” อยู่รอบ ๆ เกาะ พร้อมกับวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะ “บุก” ไต้หวัน

บีบีซีสรุปและเรียบเรียงเป็นประเด็นดังนี้

วงศ์เลิศ ปิยะกุล หรือ “อาหลง” นักธุรกิจไทยในไต้หวัน

ที่มาของภาพ, Facebook/Ar Long Wonglert Piyakul

“พี่ใหญ่จีน” ขู่บ่อย คนไต้หวันเริ่มชิน

จีนเริ่มปฏิบัติการซ้อมรบในน่านน้ำรอบเกาะไต้หวันมาตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. โดยบอกว่าจะสิ้นสุดช่วงเที่ยงของวันที่ 7 ส.ค. ขณะนี้ผู้คนในไต้หวันยังใช้ชีวิตกันตามปรกติ ไม่ตื่นตระหนกตกใจ ไม่มีการกักตุนสินค้าเพราะคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าสถานการณ์จะยกระดับไปสู่ภาวะสงคราม

ตามชายหาดที่อาจมองเห็นการซ้อมรบ “พี่ใหญ่จีน” ก็มีคนไต้หวันไปนั่งจิบกาแฟ ดูการซ้อมรบ ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะคนไต้หวันค่อนข้างชินกับคำขู่ของจีน

ครั้งล่าสุดที่จีนข่มขู่ด้วยปฏิบัติการทางทหารในลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1996 ซึ่งเป็นปีที่ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่าจีนย่อมไม่พอใจ เพราะการที่ไต้หวันมีประธานาธิบดีเป็นของตัวเองเท่ากับว่าไต้หวันกำลังจะประกาศแยกตัวเป็นประเทศ จีนจึงส่งเรือรบมาประจำการที่ช่องแคบไต้หวันแล้วยิงขีปนาวุธเพื่อข่มขู่ ทำให้นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นส่งเรือรบ 2 ลำมาคุ้มกันเกาะไต้หวัน ในที่สุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของไต้หวันก็ผ่านไปได้ด้วยดี

เครื่องบินรบของจีน

ที่มาของภาพ, REUTERS/Aly Song

เมื่อเทียบกันแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนจะมีความตึงเครียดมากกว่า และต้องจับตาดูว่าหลังจากถึงเวลาสิ้นสุดการซ้อมรบ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะกดดันไต้หวันและสหรัฐฯ ต่อไปอย่างไร เขาอาจจะขยายเวลาการซ้อมรบต่อไปก็ได้เพื่อเพิ่มแรงกดดัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบกับชาวประมงที่ไม่สามารถออกเรือได้ รวมทั้งกระทบต่อการเดินเรือขนส่งสินค้า

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คงจะหาวิธีกดดันไต้หวันต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาความนิยมของตัวเองเอาไว้ เพราะการที่นางเพโลซีเดินทางมาไต้หวันก็เหมือนเป็นการตบหน้าจีน และการซ้อมรบครั้งนี้ก็เป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีสีคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนเห็นว่าเขาไม่ใช่แค่ขู่ด้วยวาจา

คะแนนนิยมประธานาธิบดีไช่ และพรรคดีพีพียังพุ่ง

ประธานาธิบดีไช่ แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party–DPP) ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2563 พรรคดีพีพีมีนโยบายสนับสนุนเอกราชของไต้หวันและไม่ก้มหัวให้จีน ต่างจากพรรคการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคก๊กมินตั๋งที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน

การที่นางไช่ให้การต้อนรับนางเพโลซีเป็นอย่างดี รวมทั้งมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้ด้วยนั้น นักวิเคราะห์บางคนอาจมองว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แต่เท่าที่สังเกต คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเช่นนั้น และผลการสำรวจก็พบว่าคะแนนนิยมทางการเมืองของนางไช่และพรรคดีพีพียังสูงกว่าพรรคก๊กมินตั๋งถึงเท่าตัว

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ให้การต้อนรับนางเพโลซี

ที่มาของภาพ, Reuters

ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต อาจจะมีผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ มาเยือนไต้หวันอีก ทั้งโดยการเชิญของรัฐบาลไต้หวันหรือสหรัฐฯ อาจจะส่งมาเอง อย่างเช่นตอนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยส่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาะกวมมาไต้หวัน เพื่อฉลองการทำข้อตกลงเรื่องการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 หรือ “ทราเวลบับเบิ้ล” ระหว่างไต้หวันกับเกาะกวม

แม้จะมีข่าวว่านายไบเดนไม่สนับสนุนการเดินทางมาเยือนไต้หวันของนางเพโลซีในครั้งนี้ แต่ความเป็นจริงนายไบเดนเองก็เคยส่งผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ มาก่อนหน้านี้

ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ ไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีก 2 ปีข้างหน้า คือปี 2024 ซึ่งก็จะเป็นการแข่งขันระหว่างแคนดิเดตจากพรรคดีพีพีและพรรคก๊กมินตั๋งอีกเช่นเคย แต่คราวนี้นางไช่คงจะไม่ได้ลงสมัครเพราะเธอดำรงตำแหน่ง 2 สมัยแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ถ้าพรรคดีพีพีได้เข้ามาบริหารประเทศอีก สถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวันก็น่าจะตึงเครียด เพราะจีนจะต้องแข็งกร้าวขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีนโยบายที่เป็นมิตรกับจีนชนะ สถานการณ์ก็คงคลี่คลาย

จีนบุกไต้หวัน มีโอกาสเป็นไปได้

แม้ว่าตอนนี้ชาวไต้หวันส่วนใหญ่จะไม่ได้คัดค้านการมาเยือนของคณะผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ แต่หากการเยือนในลักษณะจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ประชาชนไต้หวันอาจจะเริ่มรู้สึกไม่เห็นด้วยและคิดว่าพอได้แล้ว ไม่ต้องมาแล้ว ขณะที่จีนก็จะไม่พอใจหนักขึันเรื่อย ๆ และตอบโต้ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จีน-ไต้หวันจะยกระดับเป็นแบบรัสเซียบุกยูเครน แต่คิดว่าคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนยังมีประสบการณ์ทางการทหารน้อยกว่าสหรัฐฯ จีนยังไม่เคยทำสงครามกับประเทศใดอย่างจริงจัง ประสบการณ์ยังสู้สหรัฐฯ ไม่ได้ นอกจากนี้จีนกับไต้หวันยังคงมีการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจอยู่ จีนจึงไม่น่าทำอะไรอย่างวู่วาม แต่ในอนาคต ถ้าจีนวางรากฐานต่าง ๆ พร้อมแล้วก็มีความเป็นไปได้แน่นอนที่จีนจะบุกยึดไต้หวัน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนจะบุกไต้หวันภายในปี 2025

การเมืองกระทบการค้า

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันจะตึงเครียด การค้าการส่งออกระหว่างกันเป็นไปอย่างคึกคัก รัฐบาลจีนเคยออกนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุนไต้หวันให้ไปตั้งโรงงานในจีน โดยเฉพาะในมณฑลกว่างโจวและฝูเจี้ยน บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังของโลกอย่าง Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทของไต้หวันก็ไปตั้งโรงงานในจีน แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้น มีรายงานว่านักลงทุนไต้หวันได้ทะยอยถอนการลงทุนออกจากจีนเป็นจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีไช่ประกาศนโยบาย “มุ่งสู่ใต้” คือสนับสนุนให้นักลงทุนไต้หวันไปสร้างฐานการผลิตในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาจีน

สำหรับความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในรอบนี้ ต้องรอดูต่อไปอีกสักระยะว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันอย่างไร ส่วนการที่จีนประกาศระงับการนำเข้าขนมหวานประเภทบิสกิตและเพสตรีจากผู้ส่งออกของไต้หวัน 35 ราย เพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันของนางเพโลซีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ จากผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตลาดส่งออกรายใหญ่ยังเป็นสหรัฐฯ

เยาวชนคนรุ่นใหม่ของไต้หวันจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

ที่มาของภาพ, Reuters

คนไต้หวันรู้สึกอย่างไรกับจีน

ประชากรไต้หวันอาจแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 3 รุ่น

รุ่นที่ 1 คือคนกลุ่มแรกที่อพยพจากจีนมาตั้งรกรากที่เกาะไต้หวันในยุคที่เจียงไคเช็กมาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นี่ในปี 1949 คนกลุ่มนี้ซึ่งมีประมาณเกือบ 2 ล้านคน ปัจจุบันอายุ 80 ปีขึ้นไป ต้องการให้จีนกับไต้หวันรวมกัน เพราะเขามาจากประเทศจีน มีญาติพี่น้องอยู่ที่จีน จึงอยากจะเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับไต้หวัน

รุ่นที่ 2 เป็นลูกหลานของคนรุ่นที่ 1  สืบทอดกิจการจากคนรุ่นพ่อแม่ที่อพยพมาจากจีน ครึ่งหนึ่งจึงมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน (Chinese) อยู่ แต่อีกครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าเขาเป็นคนไต้หวัน (Taiwanese)

รุ่นที่ 3 เป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นผู้ที่เติบโตมาในยุคที่ไต้หวันมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว และรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไต้หวันเต็มตัว

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ไต้หวันเคยจัดทำประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน ซึ่งผลออกมาว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ไต้หวันแยกจากจีน แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่พรรคดีดีพีและประธานาธิบดีไช่ชนะการเลือกตั้งติดต่อกัน 2 สมัยสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว