“หากดอกเบี้ยขึ้น 1% ภาระผ่อนต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10%-11%”

ปณิศา เอมโอชา

ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

ถ้าวันนี้คุณผ่อนบ้านอยู่เดือนละ 10,000 บาท แล้ววันที่ 10 ส.ค.ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น 0.25% หรือ 0.50% งวดถัดไปคุณจะต้องจ่ายเงินกู้ (เงินต้น+ดอกเบี้ย) เท่าไหร่กันแน่

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่

นักวิเคราะห์ที่คุยกับบีบีซีไทยเห็นตรงกันว่าคงเป็นไปได้ยาก

สิ่งที่ต้องจับตาดูคือตัวเลขจะออกมาเป็นเท่าไหร่กันแน่ ระหว่าง 0.25%-0.75%

ส่องไส้ใน: ดอกเบี้ยเบียดเงินต้น

“หากดอกเบี้ยขึ้น 1% ภาระผ่อนต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10%-11%” น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยกตัวอย่าง

สาเหตุที่เลือกใช้เลขสมมติ 1% ไม่ใช่เพียงแค่ความง่ายต่อการคำนวณ แต่ธัญญลักษณ์อธิบายว่า ตามปกติแล้ว สัญญาเงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวอาทิ สินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อธุรกิจ คำนึงถึงความผันผวนของดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เธออธิบายว่า หากดอกเบี้ยปรับขึ้นไม่เกิน 1% ธนาคารพาณิชย์อาจไม่เอาต้นทุนดอกเบี้ยตรงนี้มาลงกับลูกหนี้ ทว่าการบริหารต้นทุนของธนาคารพาณิชย์อาจไปหลบอยู่ใน “ไส้ใน” ของยอดหนี้ที่มีมูลค่าเท่าเดิม

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณจ่ายหนี้เดือนละ 100 บาท โดยให้ 70 บาท เป็นเงินต้น และ 30 บาท เป็นดอกเบี้ย ธนาคารอาจมีการขยับเป็น 60 บาท เป็นเงินต้น และ 40 บาท เป็นดอกเบี้ยได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละสัญญา

สัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยกับเงินต้นเช่นนี้จะมีผลกับการผ่อนหนี้ประเภทสินเชื่อลดดอกลดต้น อาทิสินเชื่อบ้านเป็นสำคัญ

ผู้หญิง บัตรเครดิต

ที่มาของภาพ, Getty Images

หากคุณเป็นหนี้ 1 ล้านบาท

ด้าน ดร.ปิยะศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิย์ จำกัด ยกตัวอย่างว่า หากวันนี้คุณกู้บ้านวงเงิน 1 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามปกติจะต้องผ่อนหนี้เดือนละประมาณ 10,000 บาท

ผู้อำนวยการอาวุโส แห่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่า เมื่อแบงก์ชาติมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งฝั่งธนาคารพาณิชย์น่าจะปรับขึ้นตาม แต่จะปรับขึ้นน้อยกว่าระดับของแบงก์ชาติ

เขามองว่า หากแบงก์ชาติปรับดดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ฝั่ง MLR (Minimum Loan Rate) หรือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี อาจจะขึ้นราว 0.20%

นั่นหมายความว่า สำหรับกรณีตัวอย่างข้างต้น หากแบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ลูกหนี้ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 100 บาท หากปรับขึ้น 0.50% หรือ 0.75% ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม 200 และ 300 บาทตามลำดับ

“[ดอกเบี้ย] ไม่ได้มากอะไร แต่มันจะกินเงินใช้จ่ายด้านอื่น และอันนี้หนี้ไม่เยอะ”  ดร.ปิยะศักดิ์ ชี้

ลูกหนี้เสี่ยงแค่ไหน

นางพวงพรรณ ภู่ขำ ผู้สืบทอดกิจการร้านอาหารที่มีประวัติยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษในวัย 31 ปี ชี้ว่า เธอยังโชคดีอยู่ที่เพิ่งไปรีไฟแนนซ์บ้าน วงเงินรวม 3.9 ล้านบาทมา

“ตอนนี้ผ่อนแบงก์ดอกเบี้ย 4% เดือนละ 22,000 บาท ยังไหวอยู่” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า หากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมากระทบกับหนี้ที่ต้องจ่ายมากขึ้น เธอเองยังพอมีช่องว่างให้หายใจได้

ในทางกลับกัน สินเชื่อที่กู้เพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องให้กับร้านอาหารเหมือนจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากราคาต้นทุนการดำเนินกิจการสูงขึ้น โดยเฉพาะจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่ร้านอาหาร “เลี่ยงไม่ได้เลย”

“ร้านเรากู้มาจ่ายไป เอามาเป็นเงินหมุนเวียน” นางพวงพรรณ อธิบาย

สำหรับเจ้าของธุรกิจวัย 31 ปีนั้น เธอยังสามารถบริหารทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อธุรกิจได้ดี ทว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของคนไทยไม่ได้เข้มแข็งจนหมดห่วง

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีล่าสุดของไทย ณ ไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 90.1% ไม่เพียงตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 79.9% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด แต่ตลาดแรงงานของไทยยังไม่นับว่าฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับเดียวกันกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 อยู่ดี

ลัทธกิตติ์ ลาภอุดมการ นักวิเคราะห์จาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่าแม้การปรับขึ่้นดอกเบี้ยอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาระการจ่ายหนี้ของคนทั่วไปมากนัก แต่ผลกระทบจากขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจในภาพรวมยังน่ากังวลอยู่

“ปัจจุบันสำหรับประเทศไทยเรามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เกิน 90% เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดลำดับที่ 11 ของโลก สะท้อนว่าครัวเรือนไทยมีความเปราะบางต่อภาระดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น”

อีกทั้งผลกระทบของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลกระทบต่อหนี้ที่มีดอกเบี้ยแบบลอยตัวมากกว่าดอกเบี้ยแบบคงที่

“ถ้านับภาพรวมเรามีหนี้ครัวเรือนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ประมาณ 30% – 40% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งจะเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบทันทีจากดอกเบี้ยขึ้น”

เขายกตัวอย่างเพิ่มว่า คนกู้ซื้อรถยนต์ หรือบัตรเครดิตจะไม่ได้มีภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเนื่องจากการคิดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ส่วนการกู้ซื้อบ้านอาจสามารถยืดระยะเวลาผ่อนชำระคืนให้นานขึ้นโดยที่ภาระหนี้ไม่เปลี่ยนแปลงได้

คนไทย กทม.

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทั้งนี้ ธัญญลักษณ์ เสริมว่า แม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสิ้นปีนี้อาจลดลงมาอยู่ที่ 85%-86% ต่อจีดีพี ทว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้น เนื่องจากการคำนวณหนี้ครัวเรือนเน้นใช้จีดีพีเป็นตัวหาร ซึ่งจีดีพีนี้รวมอัตราเงินเฟ้อเข้าไปแล้ว

ดังนั้น ธัญญลักษณ์ อธิบายต่อว่า แม้ระดับหนี้จะเพิ่มขึ้น “ซึ่งปกติเพิ่มขึ้นทุกปี” แต่เมื่อมีตัวหารใหญ่กว่าและใหญ่จากอัตราเงินเฟ้อไม่ใช่การขยายตัวของเศรษฐกิจจริง จึงทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีดูลดลง

เธออธิบายว่า เพื่อดูความเปราะบางของการเป็นหนี้ให้ชัดเจนขึ้น เราสามารถเข้าไปดูผ่านภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเทียบกับรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) ซึ่งสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

ตามคำอธิบายของ ธปท.นั้น สัดส่วน DSR ที่ไม่เกิน 30% จะนับเป็นการตัวช่วยในการกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือน ทว่าระดับที่มากกว่านั้นซึ่งเรียกกันว่า “จุดวกกลับ” (turning point) จะไปลดระดับการบริโภค และสะท้อนว่า “มีภาระหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ ครัวเรือนก็มีแนวโน้มจะปรับตัวด้วยการลดการบริโภคลงหรือผิดนัดชำระหนี้”

ข้อมูลจากแบงก์ชาติพบว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 (ปี 2562) ตัวเลข DSR ของครัวเรือนอยู่ที่ 28.6% ซึ่งแบงก์ชาติระบุว่านั่น “นับว่าอยู่ใกล้เส้นวิกฤตมากแล้ว” นอกจากนี้ ตัวเลขประเมินล่าสุดของไทยเกิน 30% ไปแล้ว

ด้าน ดร.ปิยศักดิ์ เสริมว่า แม้ตอนนี้ธนาคารพาณิชย์จะยังไม่ได้กังวลเรื่องหนี้เสียมากนัก แต่จะเห็นได้ว่า ยอดสินเชื่อใหม่เริ่มลดลง

“ช่วงที่ผ่านมาแบงก์ไม่ปล่อยอสังหาฯ ขนาดนั้นเขายังกลัวเอ็นพีแอล (หนี้เสีย) กลัวอยู่เยอะเลย” ธัญธลักษณ์เสริม

ลัทธกิตติ์ เห็นตรงกัน เขาชี้ว่า การปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย และยอดปล่อยสินเชื่อจะชะลอตัวลงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ตัวอย่างเช่น ในวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อน ๆ จะเห็นการปล่อยกู้ในสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงได้ถึง 10% – 20%

“แน่นอนว่าจะกระทบต่อการเติบโตของการบริโภคและเศรษฐกิจไทยที่ส่วนหนึ่งเคยเติบโตได้ใน

ช่วงดอกเบี้ยขาลงผ่านการก่อหนี้ที่มากขึ้น”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว