ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันยอมเสี่ยงตายข้ามน้ำข้ามทะเลหนีการล้างแค้นของตาลีบัน

  • ซานา ซาฟี และคาวูน คาห์มูช
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ได้ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน เป็นการปิดฉากสงครามครั้งยาวนานที่สุด และการยึดครองที่กินเวลา 20 ปี

นี่ทำให้อัฟกานิสถานกลับคืนสู่เงื้อมมือของกลุ่มตาลีบัน และทำให้อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเคยร่วมมือกับกองกำลังตะวันตก รวมถึงครอบครัวของพวกเขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามชีวิต หลายคนหลบหนีออกนอกประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย และปัจจุบันยังไม่มีที่ให้ลงหลักปักฐานเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

ชื่อของบุคคลในบทความนี้ทั้งหมดเป็นนามสมมุติ เพื่อความปลอดภัยของพวกเขา

“มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นทะเล” ราห์มัต กล่าว

ราห์มัต ชายหนุ่มวัย 30 ปี จากดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลอย่างอัฟกานิสถานคิดขณะเหม่อมองท้องทะเลในช่องแคบอังกฤษที่กั้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส เขาเฝ้ามองเรือที่แล่นผ่านท่าเรือเมืองกาเลส์ ของฝรั่งเศส

Rahmat stares out to sea

ภาพของท้องทะเลที่น่าจะสร้างความตื่นเต้นดีใจ กลับทำให้ราห์มัตเต็มไปด้วยความหวาดกลัว

เขาและชายชาวอัฟกันหลายสิบคนอยู่ที่เมืองกาเลส์ เพื่อรอให้ขบวนการลักลอบพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายแจ้งว่าถึงเวลาที่ต้องออกเดินทางข้ามช่องแคบแล้ว

“เมื่อมองออกไปยังทะเล ผมรู้สึกกลัวจับใจ เหมือนผมกำลังประจันหน้ากับความตาย…ผมคงไม่มาอยู่ตรงนี้ หากอัฟกานิสถานปลอดภัย” เขาบรรยายความรู้สึกที่มี

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักรระบุว่า จำนวนชาวอัฟกันที่พยายามเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษเข้าไปยังสหราชอาณาจักรมีเพิ่มขึ้น 5 เท่านับตั้งแต่ตาลีบันกลับเข้าปกครองประเทศเมื่อปีก่อน

ผู้อพยพข้ามแดนจากชายฝั่งที่ทอดยาวของฝรั่งเศส

ภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากตาลีบันเข้ายึดอำนาจ ผู้คนในหมู่บ้านของราห์มัตเริ่มหายตัวไปอย่างปริศนา ก่อนที่ในเวลาต่อมาร่างไร้วิญญาณของพวกเขาจะปรากฏขึ้นโดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ

“เราไม่มีทางรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา หรือใครทำพวกเขา” ราห์มัตเล่า

ในกรุงคาบูล ผู้นำตาลีบันได้ประกาศ “นิรโทษกรรมครั้งใหญ่” ให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทั่วประเทศ พร้อมยืนยันจะให้ความเมตตาต่อผู้ที่เคยต่อต้านตาลีบัน

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสื่อหลายสำนักพบว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีอดีตเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายร้อยคนถูกสังหารและบังคับให้หายสาบสูญ

ราห์มัตเชื่อว่า การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของเขาเป็นการฆ่าล้างแค้นโดยสมาชิกตาลีบันที่มีความแค้นต่อบุคคลที่เคยทำงานหรือให้ความช่วยเหลือรัฐบาลชุดก่อน

กลุ่มตาลีบันในท้องถิ่นได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส

อย่างไรก็ตาม การที่พ่อและพี่น้องผู้ชาย 2 คนของราห์มัตเคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ทำให้ครอบครัวของเขาต้องเผชิญกับภัยคุกคาม ด้วยความเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกชาย พ่อของราห์มัตจึงขอให้ลูก ๆ หลบหนีออกจากอัฟกานิสถาน

หลังออกเดินทางนานหลายเดือน ผ่านทางอิหร่าน ตุรกี และเซอร์เบีย ในที่สุดราห์มัตก็เดินทางถึงเมืองกาเลส์ ของฝรั่งเศสในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนที่มาถึงเขาได้พบกับชายชาวอัฟกันอีกหลายสิบคน ทุกคนล้วนเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพวกเขาพยายามเดินทางมุ่งสู่อังกฤษ

ทำไมต้องเป็นอังกฤษ

ตรงชายขอบบริเวณที่เคยเป็นค่ายผู้อพยพเมืองกาเลส์ ซึ่งถูกรื้อถอนไปในปี 2016 ชายอัฟกันหลายสินคน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนวัยหนุ่มต่างยืนคุยกันในระหว่างกำลังชาร์จโทรศัพท์มือถือของพวกเขา

เมื่อผู้สื่อข่าวบีบีซีถามว่าทำไมพวกเขาถึงต้องการเดินทางเข้าสหราชอาณาจักร ชายหนุ่มเหล่านี้ตอบว่า “พวกเขาจะรับฟังเรื่องราวของพวกเรา”

“หรืออย่างน้อย เราก็จะได้ที่พักพิงจากอันตรายที่ไหนสักแห่ง” ชายคนหนึ่งกล่าว

ชายทุกคนพูดถึง Dublin Regulation ซึ่งเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ระบุว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอลี้ภัยต้องทำในประเทศอียูแรกที่พวกเขาเดินทางถึง

หลายคนบอกว่าพวกเขาถูกเก็บลายนิ้วมือครั้งแรกที่บัลแกเรีย แต่อ้างว่าได้รับการปฏิบัติไม่ดีจากตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พวกเขาจึงตัดสินใจเดินทางต่อมายังสหราชอาณาจักร ซึ่งกฎหมาย Dublin Regulation ไม่มีผลบังคับใช้

ทางการบัลแกเรียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อข้อกล่าวอ้างนี้

Serving in the army for just two and a half years, Sajid (R) says he has lost countless friends in the conflict

การจะเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษ ผู้อพยพต้องจ่ายเงินคนละหลายพันดอลลาร์สหรัฐให้แก่ขบวนการลักลอบพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่พาพวกเขาเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน ไปยังเมืองกาเลส์ ก่อนที่จะข้ามฝั่งไปยังสหราชอาณาจักร

ซาจิด วัย 21 ปี เคยเป็นทหารในกองทัพอัฟกานิสถาน เขาอยู่ในแนวหน้าในการต่อสู้กับทั้งตาลีบันและไอเอส

เขากำลังปฏิบัติหน้าที่ปกป้องพื้นที่เขตหุบเขาติดกับพรมแดนปากีสถานตอนที่ได้ทราบข่าวว่าตาลีบันได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ

“ผมพร้อมจะสู้จนกระสุนนัดสุดท้าย” เขาเล่าความคิดในตอนนั้น

แต่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เขา “วางอาวุธแล้วกลับบ้าน”

ซาจิดเล่าพร้อมน้ำตาคลอเบ้าว่าสูญเสียเพื่อนไปนับไม่ถ้วนในการต่อสู้กับตาลีบัน

“ผมต้องหนีออกมา ตาลีบันไม่ยอมปล่อยพวกเรา พวกเขาบอกว่าจะอภัยโทษครั้งใหญ่ แต่มันไม่จริงเลย” ซาจิดบอก

“จนถึงทุกวันนี้ การตามล้างแค้นยังดำเนินต่อไป มีคนในหมู่บ้านผมหายตัวไป 6 คน และอีกหลายคนถูกฆ่า” เขาเล่า

รวันดา

ข่าวเรื่องนโยบายอื้อฉาวของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่จะส่งตัวผู้ขอลี้ภัยไปยังประเทศรวันดา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อพยพเสี่ยงตายเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษนั้น ก็ไปถึงหูชาวอัฟกันกลุ่มนี้เช่นกัน

ฮาชิม วัย 23 ปีที่เคยทำงานในหน่วยข่าวกรองอัฟกานิสถานเล่าว่าเขาต้องสูญเสียเพื่อนร่วมงานไปหลายคนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ตาลีบันกลับเข้าปกครองประเทศ

“เพื่อนร่วมงานของผม 3 คนไปนัดเจอกันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แต่ตาลีบันตามพวกเขาจนเจอ แล้วลอบสังหาพวกเขาตรงนั้น” ฮาชิมเล่า “พวกเราสนิทกันยิ่งกว่าพี่น้อง”

นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองผู้นี้ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่อังกฤษ “การข้ามทะเลด้วยเรือเล็ก ผมรู้ว่ามีโอกาสที่จะตายได้ถึง 99.99% แต่ถ้าผมยังอยู่ในอัฟกานิสถาน ป่านนี้ผมคงจะตายไปแล้ว”

“สหราชอาณาจักรอาจส่งผมไปรวันดา แต่ผมต้องการโอกาสที่จะยื่นเรื่องต่อพวกเขา แล้วบอกเล่าถึงสาเหตุที่ผมต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง”

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว